คมนาคม

นักวิชาการหวั่น “กม. ใหม่” ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แท็กซี่ค้านส่ง “ข้อมูลเรียลไทม์” อาจทำค่าโดยสารพุ่ง

“นักวิชาการ มข.” ชี้ “แนวนโยบายหรือกม.ใหม่ของรัฐ” อาจส่งผลกระทบให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนขั้นรุนแรง เผย ขบ. ชง “เรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปฯ” ต้องส่งข้อมูลการใช้บริการในลักษณะที่เป็นปัจจุบันหรือข้อมูลเรียลไทม์ (Real-time data) เกาะติดชีวิตประจำวันคนไทย ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในเรื่องความเป็นส่วนตัว ฟากสมาคมแท็กซี่ค้านสุดตัว แนะศึกษาตัวอย่างประเทศอื่น หวั่นเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการหากต้องมีต้นทุนของค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการข้อมูล

นายแทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงกรณีภาครัฐเตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ รวมถึงกำหนดให้รถแท็กซี่ และผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถจะต้องส่งข้อมูลการใช้บริการในแบบเรียลไทม์ให้กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยย้ำว่า อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน

“ประเด็นที่กำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็น บริษัทที่มีอยู่เดิมในตลาดหรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ ต้องดูแลและรักษาข้อมูลของประชาชน หากปล่อยให้มีการนำข้อมูลใดๆ ออกไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ก็จะมีทั้งโทษทางอาญาและโทษปรับที่สูงมาก ในขณะที่ประชาชนก็ต้องอาจสูญเสียความเป็นส่วนตัวจากการขอข้อมูลจากการใช้บริการต่างๆ เพราะภาครัฐจะคอยสอดส่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน”

“กรณีของการเปิดเผยข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน คำถามคือมีความจำเป็นแค่ไหนที่ภาครัฐจะต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมากถึงระดับนี้ แต่ละวันน่าจะมีคนนั่งแท็กซี่หลายพันหลายหมื่นครั้ง หากอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน ก็ควรต้องมีการสร้างกระบวนการบางอย่างเพื่อขออนุญาตในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อเป็นการถ่วงดุลหรือไม่? เช่น จะต้องขออนุญาตจากผู้โดยสารซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเสียก่อน โดยหากมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมหรือภัยต่อความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐก็สามารถขอข้อมูลย้อนหลังได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อาจพิจารณาจากความรุนแรงของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป (case by case)”

ศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย

ด้านนายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดของ ขบ. ในการบังคับให้ต้องส่งข้อมูลการใช้งานของรถในแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ อยากให้ดูตัวอย่างของประเทศที่ใช้แอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้การจัดส่งข้อมูลผู้โดยสารให้แก่ภาครัฐเพียงเดือนละครั้ง จากนี้ สมาคมฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมกับ ขบ. ในการพิจารณาร่างประกาศ กรมการขนส่งทางบกข้างต้น พร้อมจะใช้เวทีนี้ เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวน แนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเป็นภาระทั้งด้านความรับผิดชอบต่อข้อมูลฯ และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ขับขี่ฯ ซึ่งหากเกิดกรณีอาชญากรรมหรือเหตุไม่พึงประสงค์ใดๆ ก็ตาม ภาครัฐสามารถขอข้อมูลจากผู้ขับขี่เป็นรายบุคคลได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบังคับให้จัดส่งข้อมูลการใช้งานของรถแบบทันทีแต่อย่างใด

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button