เที่ยวทั่วไทย

อพท. ดันเชียงราย-เพชรบุรี ลุ้นขึ้นแท่นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ต.ค. นี้

อพท. ดัน “เชียงราย-เพชรบุรี” ฝ่าด่านแรกฉลุย เดินหน้าเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปีนี้ ‘พิพัฒน์’ มองข้ามช็อต มอบ อพท. ทำโรดแมประยะ 5 ปี พัฒนาเชียงราย-เพชรบุรี รองรับการขึ้นแท่นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ชูจุดเด่น “เชียงราย” เมืองแห่งการออกแบบ “เพชรบุรี” เมืองแห่งอาหาร พร้อมไปต่อลุยปั้นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ยกมาตรฐานสู่เกณฑ์เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

จากความสำเร็จในปี 2562 ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สามารถผลักดันจังหวัดสุโขทัยจนได้รับเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มาวันนี้ 2 จังหวัด ที่ อพท. เข้าไปพัฒนาและผลักดัน คือ จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดเพชรบุรี ยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าชิงสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ยูเนสโก ประจำปี 2564 ซึ่งจะประกาศผลในปลายเดือนตุลาคม 64

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเพชรบุรี อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) และเป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่ง อพท. ได้นำองค์ความรู้ที่มีไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนในพื้นที่ ทำให้ อพท. ได้เห็นถึงศักยภาพและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของทุนทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 จังหวัด ที่จะสามารถต่อยอดผ่านแนวทางการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกของยูเนสโกได้ จึงเริ่มดำเนินการสำรวจตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ด้วยการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เพื่อทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ

ทั้งนี้ อพท. ยังได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพของทั้ง 2 จังหวัดค้นหาจุดแข็งที่โดดเด่น จนได้ข้อสรุปเสนอให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) รวมทั้งไปประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และล่าสุดทั้ง 2 จังหวัดได้รับเลือกจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกประเทศไทย เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network-UCCN) ประจำปี พ.ศ. 2564

นอกจากนั้น อพท. ยังได้รับมอบหมายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้จัดทำแผนขับเคลื่อน หรือ Roadmap ของเมืองเชียงราย และเพชรบุรี ระยะ 5 ปี โดยให้สอดคล้องกับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองของทั้ง 2 จังหวัด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อใช้โอกาสนี้พัฒนาชุมชนและเมืองให้เกิดความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ โดยใช้กลไกลการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

วางโรดแมป 5 ปีพัฒนาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โรดแมป 5 ปี ตามที่ อพท.วางกรอบไว้นั้น ส่วนของจังหวัดเชียงรายจะต้องจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติตามแผนการผลักดันให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) เนื่องจากเชียงราย มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีศิลปินล้านนาจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สืบทอดกันมา ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทางท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

ส่วนจังหวัดเพชรบุรี อพท. จะจัดทำโรดแมปเพื่อขับเคลื่อนเมืองโดยจะต่อยอดจากผลการศึกษาเดิมที่มีอยู่ ซึ่งพบว่า เพชรบุรี เป็นเมือง 3 รส และเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศใน 3 อย่างคือ การผลิตเกลือ การปลูกและผลิตน้ำตาลจากตาลโตนด และเป็นแหล่งปลูกมะนาวที่รสชาติที่ดี่สุด นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งวัตถุดิบการทำอาหารที่จะมีความเชื่อมโยงกับภาคชุมชนและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นเมนูอาหารที่หลากหลายทั้งอาหารคาว หวาน เช่น แกงหัวตาล ตาลโตนด ยำหัวโตนด ต้มสีนวล (ต้มข่าไก่) แกงไก่บ้านหน่อไม้ดอง ขนมโตนดสุก ขนมหม้อแกง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต

ร่วมภาคีทำงานเชิงรุก 
อพท. ใช้กลไกการทำงานโดยการดึงชุมชนที่มีศักยภาพสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่าย ให้เห็นถึงความสำคัญของประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของเมืองในครั้งนี้ ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งด้านพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์และเส้นทางการท่องเที่ยว การบริการให้มีมาตรฐาน การพัฒนานักสื่อความหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่นำเอาอัตลักษณ์ประจำถิ่นมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่น สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น อพท. ยังได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำร่างใบสมัคร และช่วยพัฒนาใบสมัครให้แก่ทั้ง 2 เมือง เพื่อนำส่งให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโกประเทศไทย พิจารณาและคัดเลือก

มุ่งพัฒนาพื้นที่ อพท. สู่เมืองสร้างสรรค์อย่างไรก็ตาม นอกจากการทำงานด้านการพัฒนาเพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและคุณภาพชีวิตของชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้ว อพท.ยังเตรียมขยายเครือข่ายการพัฒนาเมืองเพื่อเข้าสู่มาตรฐานเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เช่น เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดน่าน และอีกหลายพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการรับรู้ศักยภาพของประเทศไทยในระดับโลก ซึ่งปัจจุบันยูเนสโก มีสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จำนวน 246 เมือง จาก 84 ประเทศ สำหรับประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 4 เมือง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต (2558) จังหวัดเชียงใหม่ (2560) จังหวัดสุโขทัย และกรุงเทพมหานคร (2562)

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button