พลังงาน

ยกเลิกดีเซล บี7 และ บี10 ชั่วคราว

กบง. ยกเลิกดีเซล บี7 และ บี10 ชั่วคราว เผยเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน ลดราคาดีเซลบี 7 ลง 1 บาท ปรับสเปคน้ำมันดีเซลเป็นบี 6 ดูแลค่าการตลาด และใช้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลประชาชน

การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่มีการปรับขึ้นราคาในเดือนกันยายน 2564 จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 40 – 60 สตางค์ต่อลิตร สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 2,237 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ทั้งยังร่วมมือทุกหน่วยงาน ผู้ประกอบการในการดูแลค่าการตลาดน้ำมัน การดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน และให้คงราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งแม้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วแต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศบางประเภทสูงขึ้นจนส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน

วันนี้ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นของกระทรวงพลังงาน โดยมีแนวทางดำเนินการ คือ ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 จาก 1.00 บาทต่อลิตร เป็น 0.01 บาทต่อลิตร ซึ่งมาตรการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 5 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป

ปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาเป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร พร้อมทั้งเห็นชอบค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เท่ากับ 1.40 บาทต่อลิตร โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่าง 11-31 ต.ค. 2564 โดยราคาน้ำมันดีเซลจะลดระดับลงมาคงอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร และในระหว่างนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการในระยะต่อไป

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติ มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ดำเนินการปรับปรุงประกาศ กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล เพื่อรองรับการปรับสัดส่วนน้ำมันดีเซลตามแนวทางที่ กบง. เห็นชอบ มอบหมายให้สำนักงานบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริการจัดการอัตราเงินกองทุนฯ ในการติดตามและกำกับให้ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาลดลงจาก 1.80 บาทเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงพลังงาน ติดตามการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวนำเสนอต่อ กบง. ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวน จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอยู่เสมอ ทั้งเรื่องราคา LPG การรักษาค่า FT ในส่วนของค่าไฟฟ้า และดูแลเกษตรกรให้ยังได้รับผลประโยชน์จากการผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผู้ผลิตยังสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้อย่างต่อเนื่องและราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็ยังคงอยู่ในระดับราคาที่สูง ทั้งนี้ มาตรการที่ กบง. เห็นชอบในครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น โดยที่ผ่านมาได้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จำนวน 1,480 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อชดเชยราคาขายปลีก LPG สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button