การเกษตร

เปิด 9 แนวทางยกระดับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์สู่องค์กรดิจิทัล

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ วาง 9 แนวทางพัฒนาการบริการสู่องค์กรดิจิทัล เน้นเพิ่มศักยภาพบุคลากร พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีช่วยปฏิบัติงาน สร้างความเข้มแข็ง โปร่งใสให้แก่สหกรณ์ และเกษตรกร

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดกรอบทิศทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายการพัฒนางานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ครอบคลุมภารกิจหลักของกรมฯ โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี(พ.ศ.2566-2570)ที่สอดคล้องกับประเด็นและแนวทางการพัฒนา โดยกำหนดให้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการและการให้บริการสู่องค์กรดิจิทัล ประกอบด้วยแนวทางดังนี้

๑. พัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการองค์กรให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทุกมิติ พร้อมปรับอัตรากำลังให้เหมาะสมกับปริมาณงาน มุ่งสู่องค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง ทำงานเชิงรุก บูรณาการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน สร้างแรงจูงใจและขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

๒. สร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถสูง ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมืออาชีพ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะ และการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัล โดยวิเคราะห์ศักยภาพของบุคลากร เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ยกระดับผู้สอบบัญชีให้เป็น Cyber Auditor ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชีและเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมสร้างสมรรถนะและศักยภาพของบุคลากรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น พร้อมติดตามและประเมินผลเพื่อสะท้อนศักยภาพของบุคลากรและประสิทธิภาพการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง

๓. ยกระดับการดำเนินการด้านคุณธรรม และความโปร่งใสขององค์กร สร้างการรับรู้ความเข้าใจ ด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กร สร้างการตระหนักรู้ และจัดทำกิจกรรมเพื่อยกระดับด้านคุณธรรมและความโปร่งใสให้ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA ตามที่กำหนดไว้

๔. พัฒนารูปแบบการให้บริการประชาชนด้วยการบริหารจัดการองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม อาทิ การพัฒนาทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือบุคคลอื่น พัฒนาระบบการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือบุคคลอื่นสามารถใช้บริการในการสืบค้นข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงกรมสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำกับดูแลการสอบบัญชีสหกรณ์ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือบุคคลอื่น ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

๕. พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารองค์กร โดยนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนากระบวนการให้บริการตามภารกิจกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เน้นความรวดเร็ว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง พัฒนาระบบสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้เข้าถึงง่าย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ลดขั้นตอนการใช้กระดาษเปลี่ยนเป็นดิจิทัล

๖. เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ให้สามารถใช้งานได้ทันสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีความพร้อมต่อการรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตได้

๗. เผยแพร่ข่าวสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุกในรูปแบบใหม่ (New Normal)  สร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ถึงประโยชน์และความสำคัญ ด้านการเงินการบัญชี รวมถึงการสร้างการรับรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีในการช่วยปฏิบัติงาน และนวัตกรรมแก่บุคลากรในองค์กร โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารในช่องทางสื่อต่าง ๆ

๘. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยพัฒนาบุคลากรให้ทำการวิจัยสำหรับการปฏิบัติงาน ปรับปรุงข้อมูลงานวิจัยให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบการค้นคว้าข้อมูลที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว การจัดทำคลังความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยให้เป็นฐานข้อมูล องค์ความรู้ แนวคิดใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และ   ๙. สร้างภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภายนอก รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การด้านสหกรณ์ทั้งในและต่างประเทศ

อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า แนวทางดังกล่าว เป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงาน พร้อมปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัลในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใส แก่สหกรณ์และเกษตรกร

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button