เทคโนโลยี

“ชัยวุฒิ” กดปุ่มเปิดศูนย์ Thammasat AI Center มุ่งต่อยอดความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์สู่คนรุ่นใหม่และนานาชาติ เล็งจับมือ อว.จัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ขึ้นทั่วประเทศ

“ชัยวุฒิ” รมว.ดิจิทัลฯ กดปุ่มเปิดศูนย์ Thammasat AI Center  ศูนย์กลางการฝึกอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป เพื่อตอบโจทย์สังคม ชุมชน และคุณภาพชีวิต สร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ๆ เผยเตรียมประสาน อว. ให้มีการจัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หวังเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษานวัตกรรม

วันนี้ (22 ก.ย. 65) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีเปิด “ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ “Thammasat AI Center” เพื่อเป็นศูนย์กลางฝึกอบรม วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่และผู้สนใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้เกียรติร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหาร เยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนการสอน AI ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งส่งเสริมองค์กรต่างๆ ในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ การพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ พร้อมจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งได้สนับสนุน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง “ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ Thammasat AI Center เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้และพัฒนาการวิจัยด้าน AI ร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ยกระดับศักยภาพและกระตุ้นการคิดค้นต่อยอดนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศชุมชนใช้ AI เป็นเครื่องมือดำเนินธุรกิจ คาดว่ามูลค่าการตลาด AI ทั่วโลกจะสูงกว่า 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 565 ล้านล้านบาทในปี 2030 เพิ่มมูลค่าถึง 26% นำไปสู่โอกาสพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาและประชาชนได้เข้าถึงนวัตกรรม และ AI จะได้ประสานกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีการจัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ลักษณะคล้ายๆ กับศูนย์ Thammasat AI Center ที่ได้เปิดดำเนินการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาให้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้าน AI ที่ยังขาดแคลน แต่ตลาดมีความต้องการมาก

ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆ พัฒนานวัตกรรม ความรู้ และทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจัดตั้ง Thammasat AI Center มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ให้โดดเด่น พร้อมยกระดับสู่ความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านที่ท้าทายของประเทศไทยต้องก้าวสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

ปัจจุบัน นอกจาก Thammasat AI Center แล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ 3 โครงการได้แก่ 1. โครงการ Medical Valley ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา 2. โครงการ 88 sandbox ศูนย์การเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการแห่งอนาคต 3. โครงการ TU Metaverse ที่จะสร้าง campus ที่ 5 ใน Metaverse พร้อมหลักสูตร AI ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สอน online และ offline ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ กว่า 60 องค์กร พัฒนานวัตกรและวิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์ เสริมศักยภาพ AI ของประเทศ

รศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า Thammasat AI Center จะเป็นสถาบันที่จุดประกายการศึกษาและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ตอบโจทย์สังคม ชุมชน และคุณภาพชีวิต สร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ๆ เพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัลอย่างมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศและภูมิภาค เกิดความร่วมมือในมิติทางวิชาการด้าน AI กับนานาชาติ พร้อมก้าวไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

“จุดเริ่มต้นของ Thammasat AI Center มาจากแนวคิดของท่านอธิการบดีที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้าง AI Talent ในการป้อนสู่ตลาดแรงงานของประเทศเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้าน AI และเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์จึงได้จัดเตรียมข้อเสนอจัดตั้ง Thammasat AI Center ไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยโครงการจัดตั้งศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการอนุมติสนับสนุนการจัดตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563”

รศ.ดร.จิรพล กล่าวอีกว่า  Thammasat AI Center จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนในด้าน AI ด้วยการเป็นศูนย์เรียนรู้และนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้และมาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมความตื่นตัวและความเข้าใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ความเข้าใจผ่านการฝึกอบรมทั้งในระดับพื้นฐาน และในระดับก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้าน AI ให้กับนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน โดยหลักสูตรจะเป็นหลักสูตรแนวใหม่ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติจริง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาครู อาจารย์ ทั้งในระดับประถมและมัธยมเพื่อให้ครูอาจารย์เหล่านี้สามารถเทคโนโลยี AI ให้กับนักเรียน นักศึกษาและเยาวชนได้ ผ่านการเรียนรู้ ณ AI Center ที่มีความพร้อมและมีบรรยากาศในการส่งเสริมการเรียนรู้เป็นอย่างดี ที่สำคัญจะเป็น Platform สำหรับการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมด้วยการนำเอาเทคโนโลยี AI มาเพื่อแก้ปัญหาสังคม ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในการแก้ปัญหา รวมไปถึงการเป็นศูนย์รวมของนักวิจัยด้าน AI จากภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความร่วมมือ โดยการศึกษาและวิจัยจะมุ่งเน้นที่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI มาเพื่อแก้ปัญหาสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำอันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศอีกด้วย

ด้านนายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ควบคู่กับการสร้าง Tech Talent รุ่นใหม่เข้ามาเติมเต็ม Tech Ecosystem ของประเทศไทย ถือเป็นปณิธานที่สกาย ไอซีทีมุ่งมั่นมาตลอด บริษัทฯ ในฐานะ Tech Company ที่มีความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI จึงมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาและส่งมอบเทคโนโลยีการเรียนการสอนด้าน AI ให้แก่ Thammasat AI Center เพื่อสนับสนุนนักศึกษา ครูอาจารย์ และประชาชนให้ได้รับความรู้ ทั้งทางด้านวิชาการและทักษะปฏิบัติการจากศูนย์ AI ที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับ Thammasat AI Center ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 หรือ SC3 โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ของ AI Showcase ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะเปิดให้มีการแสดงเทคโนโลยีและสาธิตการทำงานงานของ AI ตั้งอยู่ในบริเวณชั้น 4 ของอาคาร SC3 พื้นที่ AI Classroom ซึ่งจะเป็นพื้นที่ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โดยหลักสูตร AI ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับก้าวหน้าจะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ โดย AI Classroom ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 ของอาคาร SC3 พื้นที่ AI Office ซึ่งจะเป็นพื้นที่ของห้องประชุม พื้นที่สำนักงาน และพื้นที่ของห้อง AI Server โดย AI Office ตั้งอยู่บริแวณชั้น 3 ของอาคาร SC3

ผลงานระหว่างจัดตั้ง Thammasat AI Center นั้น ได้มีการจัดกิจกรรม การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้าน AI เพื่อสร้าง AI Capability เพื่อใช้ในกิจกรรมอบรมและศึกษาวิจัยของศูนย์ AI โดยในโครงการมีการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเพื่อการศึกษาและวิจัยทาง AI โดยแต่ละเครื่องมีหน้าที่ในการเป็น AI Training, Inference และสามารถ Run AI Solutions ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดหาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล อุปกรณ์เครือข่าย และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เพื่อใช้ในพื้นที่ AI Classroom
การพัฒนาหลักสูตรด้าน AI จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร AI for Kids, AI Crash Course , Machine Learning, Advanced AI, AI for Executives การจัดอบรม AI Crash course ซึ่งเป็นการฝึกบรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้นที่ครอบคลุมพื้นฐานด้าน AI และการเขียน code อย่าง python ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมปลายโดยมีนักเรียนมัธยมปลายจาก 38 โรงเรียนใน 2 รุ่น การผลิตผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติ 3 ผลงานในระดับ q1 q2 และ q3 อย่างละ 1 ผลงาน

นอกเหนือไปจากการดำเนินการใน 4 เรื่องตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ศูนย์ AI ยังได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในด้านเทคโนโลยี การศึกษา และธุรกิจ โดยในด้านเทคโนโลยี Thammasat AI Center ได้สร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีกับ Sky ICT และ Sensetime ที่จะร่วมมือกันนำ AI Solutions ระดับโลกมาใช้แก้ปัญหาทางธุรกิจ มีความร่วมมือด้านการศึกษากับบริษัท Microsoft และ Lannacom ที่จะพัฒนา Platform สำหรับการเรียนรู้ผ่าน online channel และการจัดกิจกรรมทางการศึกษา เช่น การจัด AI Hackathon เป็นต้น รวมไปถึงความร่วมมือกับ business partners อย่าง AOT ที่จะร่วมกันออกแบบและพัฒนาสนามบินที่มีชีวิต องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) เพื่อออกแบบและพัฒนา Smart Fleet Management และ ความร่วมมือกับบริษัท Baker Mckinsey Thailand ในการศึกษาวิจัยเรื่อง AI Governance หรือธรรมาภิบาลทาง AI

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button