การเงิน

เก็บภาษีเกินเป้า สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ผลบวกเศรษฐกิจไทย ลดก่อหนี้และตัดงบลับ เลี่ยงวิกฤติฐานะการคลัง

การฟื้นตัวยังมีลักษณะเป็นรูปตัว K ทำให้เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผลกำไรของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่กิจการขนาดเล็กขนาดย่อม ครัวเรือนรายได้น้อยยังอ่อนแอ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ทำให้กิจกรรมการบริโภคและการลงทุนของกลุ่มรายได้น้อยและรายได้ปานกลางฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ  คาดว่า เงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่าเกิน 39 บาทต่อดอลลาร์ 39 บาทน่าจะเป็นระดับอ่อนค่าสุดที่จะทำให้กลไกของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศปรับตัวให้เงินบาทเกิดจุดวกกลับแข็งค่าขึ้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  กล่าวถึง สัญญาณการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น นอกจากภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นแล้ว การขยายตัวของการบริโภคก็เพิ่มขึ้นสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกินเป้าหมาย ยอดการจัดเก็บภาษีโดยรวม 11 เดือนเกินเป้าหมายมากกว่า 1.17 แสนล้านบาทสะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะการเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรเก็บได้มากกว่าเป้าหมายกว่า 2.38 แสนล้านบาท การฟื้นตัวยังมีลักษณะเป็นรูปตัว K ทำให้เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้มีอานิสงส์ต่อกิจการหรือคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ยิ่งมีรายได้ระดับสูง กิจการและบุคคลยิ่งมีการฟื้นตัวดี ยิ่งรายได้ต่ำยิ่งฟื้นตัวช้า สภาวะดังกล่าวทำให้ปัญหาการกระจายรายได้แก้ยากขึ้นอีก

กิจการหรือประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ หรือ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงช่วงล็อกดาวน์โควิด ขณะที่กิจการหรือประชาชนที่สามารถปรับตัวได้ดีกว่าในช่วงล็อกดาวน์โควิดกลับขยายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ความสมดุลในโครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงไปในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีเอไอและหุ่นยนต์ กลุ่มทุนในฐานะผู้ประกอบการมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้ามากขึ้น ส่วนแรงงานมีอำนาจในการต่อรองเรื่องค่าจ้างน้อยลง ในภาวะที่ตลาดเสียสมดุลเช่นนี้ การดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินและการคลังจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ให้รุนแรงขึ้นอีก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรหลีกเลี่ยงมาตรการเข้มงวดเกินไป หรือให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพราคามากเกินไป ทางการควรให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานควบคู่ไปด้วย

ผลกำไรและการเติบโตของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ภาวะดอกเบี้ยแพง ดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มธุรกิจการเงินและธุรกิจประกันจะมีผลกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง กลุ่มพลังงานก็จะมีผลประกอบการดีขึ้น การควบรวมกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่ทำให้ลดต้นทุน เกิดการประหยัดต่อขนาด เพิ่มอำนาจการต่อรองและแข่งขันในตลาดทำให้มูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองมีผลกำไรเกือบ 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแบบก้าวกระโดดประมาณ 26.4% เทียบกับไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 35% โดยกลุ่มธุรกิจพลังงานผลกำไรปรับขึ้นแรงสุดกว่า 177% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สัดส่วนของบริษัทที่กำไรและบริษัทที่ขาดทุนอยู่ที่ 10 ต่อ 1 จากข้อมูลพบว่า บริษัทที่ยังขาดทุนอยู่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก และ คาดการณ์ว่า ผลประกอบการในไตรมาสสามและสี่ของปีนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า กลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงขึ้นไปมีอัตราการขยายตัวและการฟื้นตัวของการบริโภคสูงกว่ากลุ่มครอบครัวรายได้น้อยและครอบครัวรายได้ปานกลางระดับล่างอย่างชัดเจน การฟื้นตัวของยอดขายของสินค้าหรูหรา เช่น อสังหาริมทรัพย์ตามจังหวัดท่องเที่ยว บ้านราคายี่สิบล้านขึ้นไป หรือ รถยนต์หรู เป็นต้น การบริโภคครอบครัวรายได้น้อยและรายได้ปานกลางฟื้นตัวอย่างอ่อนแอจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นและการคาดการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้เกิดความระมัดระวังในการใช้จ่าย อัตราการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย ปัจจัยดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่กดทับการฟื้นตัวของกิจกรรมการบริโภคและการลงทุนของกลุ่มรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อม ธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นตามลำดับ ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่น จีน ตุรกี ที่ยังดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในวัฎจักรเศรษฐกิจขาขึ้น กลุ่มครัวเรือนรายได้สูงเพิ่มขึ้นตามภาวการณ์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กลุ่มรายได้ปานกลางกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย และกลุ่มรายได้น้อยบางส่วนกลับมีรายได้แท้จริงลดลงจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยแพง และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำก็ต่ำกว่าเงินเฟ้ออีก ปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาสัดส่วนหนี้ต่อทุนสูงของภาคธุรกิจบางส่วนจะได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นไปอีกจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งในปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจอยู่ที่ 1.25% ปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปได้อีก 0.75-1.25% ทำให้ ดอกเบี้ยไปอยู่ที่ระดับ 2-2.50% ได้ในปี พ.ศ. 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับดังกล่าว หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 31 ล้านล้านบาท แม้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะสูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณกว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มว่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2565 หากดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น 0.5-1% อัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกๆ 1% ที่ปรับขึ้นจะทำให้ภาระการผ่อนสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่ออื่นๆปรับเพิ่มขึ้นอีก 7% ส่งผลทำให้ครัวเรือนที่กู้เงินต้องส่งเงินงวดสูงขึ้นกว่าเดิมหรือใช้เวลามากขึ้นในการผ่อนชำระ

ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ 86-88% ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยจากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับโลก ตัวเลขสูงระดับนี้เข้าข่ายวิกฤติหนี้สินครัวเรือนแล้ว และ ตัวเลขหนี้ที่ปรากฏนี้ยังไม่นับรวมการเป็นหนี้นอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติและหนี้นอกระบบ ฉะนั้นตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบอาจทะลุ 90% แล้ว จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลลดลง เพราะขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้อยู่ที่ 34-35% ฉะนั้น ผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่มหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้นมากพอ การปรับค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดไม่ได้ทำให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ขณะนี้มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณ 12% ของสินเชื่อรวม ประมาณ 1 ล้านบัญชี หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงและเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีนัก ลูกหนี้ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออาจเพิ่มเป็น 15% ของสินเชื่อรวมได้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ขอให้ ทางการเตรียมเงินไว้ดูแลด้วย ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลอาจเพิ่มขึ้นยุคดอกเบี้ยแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลในขณะนี้ยังถือว่าบริหารจัดการได้เพราะตอนวิกฤติปี 2540 เอ็นพีแอลเคยพุ่งแตะระดับ 52% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้เวลานี้ ระบบธนาคารของไทยมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio อยู่ที่ 19.7% ฉะนั้นวิกฤติภาคการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะมาจากกลุ่ม Non-Bank กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ มากกว่า

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะมากกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับการขยายที่สูงกว่าเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะสูงกว่า 6% เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงยังไม่ส่งต่อเศรษฐกิจมากนักในขณะนี้ โดยที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ มี Output Gap หรือ ช่องว่างของผลผลิตติดลบ (Actual GDP – Potential GDP) และจะกลับมาเป็นบวกได้อย่างเร็วที่สุดประมาณกลางปีหน้า การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการคลังจึงมีความจำเป็นอยู่ เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นแต่ยังขยายตัวต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ ยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่หรือใช้ศักยภาพการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ Output Gap ยังติดลบอยู่ เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อนๆ (Mild Recession) รัฐบาลอาจต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม แม้นการเก็บภาษีได้มากกว่าเป้าหมายแต่ต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณอย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพ ควรตัดงบลับ งบกลาง ที่ไม่มีการตรวจสอบและควบคุมการใช้จ่ายเงินลงมา และจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อวิกฤติฐานะการคลังในอนาคตอีกด้วย

รศ. ดร. อนุสรณ์ อธิบายต่อว่า การพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคตามแนวคิดของ Olivier Jean Blanchard และ Danny Quah กำหนดให้ GDP ณ ราคาคงที่ ถูกกระทบจากความผันผวนทางด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยแปลงวิธีการทางสถิติ Vector Autoregression (VAR) ไปสู่ แบบจำลองเชิงโครงสร้าง (Structural Model) โดยวิธี SVAR นี้ ได้ประยุกต์ใช้ Autoregressive System ที่ประกอบด้วยตัวแปรสองตัว เพื่อจำแนกแหล่งที่มาของความผันผวนในการผลิต ได้แก่ อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิต และอัตราการว่างงาน ซึ่งตามสมมติฐานอัตราการ ว่างงานตามธรรมชาติ (Natural Rate Hypothesis) จะพบว่า ความผันผวนทางด้านอุปสงค์จะไม่ส่งผลต่อ GDP ณ ราคาคงที่ในระยะยาว ในขณะที่ความผันผวนทางด้านอุปทานต่อผลิตภาพทางการผลิตนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอย่างถาวร ดังนั้น ผลผลิตที่ระดับศักยภาพ คือ GDP ที่ไม่รวมความผันผวนจากทางด้านอุปสงค์ เศรษฐกิจไทยนั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ถึง 5-6% หากมีนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมโดยเฉพาะมาตรการที่สามารถยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน มีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

การจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง คนกลับไปทำงานและเริ่มกลับมามีรายได้ รวมทั้ง เริ่มเห็นภาวะการตึงตัวของตลาดแรงงานหรือขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ ไทยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงเพราะความอ่อนด้อยทางการศึกษาทางด้าน STEM (Science, Technology, Engineer and Mathematics) นอกจากนี้ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านวิทยากรข้อมูล (Data Science) การขาดแคลนนี้ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนไปจำนวนมากในท่ามกลางการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมไฮเทคได้ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย แทน คุณภาพทางการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้ปัญหาทักษะความรู้ของบัณฑิตไม่สอดคล้องกับภาคการผลิต การฝึกทักษะใหม่ หรือ Reskill และ การยกระดับทักษะให้สูงขึ้น หรือ Upskill ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือในบางกรณีไม่สามารถทำได้เลย การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในส่วนของการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงทางด้านดิจิทัล คือ การเปิดกว้างให้ แรงงานทักษะสูง จากต่างประเทศสามารถเข้ามาทำงานในประเทศได้มากขึ้น

ในส่วนของการเก็บภาษีศุลกากรได้มากขึ้นนั้นอาจมีความไม่แน่นอนและแหล่งรายได้นี้ไม่ยั่งยืน ในระยะยาวแล้ว ภาษีศุลกากรจะลดสัดส่วนลงเรื่อยๆจากการลดกำแพงภาษีศุลกากรภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีต่างๆที่ไทยทำไว้ ขณะเดียวกันการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันมาหลายเดือนต่อเนื่องทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีสรรพสามิตต่ำกว่าเป้าหมาย 15% หรือ 8.22 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มจะจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายไปอีกหลายเดือนจนกว่ารัฐบาลจะเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน การยกเลิกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอาจไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง และ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าทำให้นำเข้าพลังงานราคาแพงขึ้นอีก แต่คาดว่า เงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่าเกิน 39 บาทต่อดอลลาร์ 39 บาทน่าจะเป็นระดับอ่อนค่าสุดที่จะทำให้กลไกของดุลการชำระเงินระหว่าง

น่าจะเป็นระดับอ่อนค่าสุดที่จะทำให้กลไกของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศปรับตัวให้เงินบาทเกิดจุดวกกลับแข็งค่าขึ้น เมื่อประเมินดูสถานะทางการคลังโดยภาพรวมน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ได้  การประเมินนี้อยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานที่ว่า ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ยาวนานในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น จีดีพีขึ้นไปแตะ 16.9-17 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะลดลงมาสู่ระดับต่ำกว่า 9 ล้านล้านบาท เมื่อเก็บภาษีได้มากขึ้น รัฐบาลลดการก่อหนี้และตัดลดงบลับและงบกลางลงมาอีก 20-30% สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะกลับไปอยู่ภายใต้กรอบก่อนที่มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะ

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวอีกว่า การยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เนื่องจาก พรก. ฉุกเฉินไม่มีความจำเป็นใดๆ มานานแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่าปกติโดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่าปกติ เวลาราชการเพิ่มเป็นทวีคูณ แถมยังได้รับบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นมาก ในช่วงของการประกาศใช้ยาวนานกว่า 2 ปี 6 เดือน ทำให้ประชาชน 1,467 คนถูกดำเนินคดีจาก พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งควรจะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button