อสังหาริมทรัพย์

บพท. เคาะแผนงานปี 63   หนุนงานวิจัยพัฒนาเมือง 21 หน่วยงาน

บพท. เดินหน้าหนุนงานวิจัย ปี 63 เร่งพัฒนาข้อเสนอโครงการที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจาก 21 หน่วยงาน ก่อนให้ทุนรวม 50 ล้านบาทไปพัฒนาผลงานให้เกิดผลด้านการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยโซนภาคกลาง กรุงเทพฯ และพื้นที่อีอีซีภาคตะวันออกยังฮอต!!! เปิดให้ปรับข้อเสนอแผนงานโครงการส่งกลับเพื่อพิจารณารอบสอง 26 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดประชุมชี้แจงแผนงานสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ประจำปีงบประมาณ 2563 ภายใต้กรอบการวิจัย เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ เมืองอัจฉริยะ(Smart City) ให้กับนักวิจัยจาก 20 มหาวิทยาลัยและ 1 หน่วยงานราชการที่ผ่านการคัดกลั่นกรองรอบแรก

พิธีเริ่มขึ้นในช่วงเช้าโดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา รักษาการผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ ว่า เพื่อชี้แจงเป้าหมายแผนงาน เพื่อทบทวนข้อเสนอโครงการวิจัย และได้แนวทางพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีคุณภาพ ต่อจากนั้น ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำเสนอข้อมูล Urban study  ในบริบทไทย : เป้าหมายของการพัฒนาเมือง และ State of development แต่ละเมือง ต่อเนื่องด้วยการแบ่งกลุ่มเวิร์คช็อปการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย ประกอบด้วยหลักการแนวคิดกระบวนการ และเครื่องมือ โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย,ดร.สรวิชญ์ เปรมชื่น, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา, รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า เป้าหมายแผนงานสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2563 ภายใต้กรอบการวิจัย เมืองศูนย์กลางน่าอยู่/Smart City ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โปรแกรมหลัก คือ โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม โปรแกรม 14 ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และโปรแกรม 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ นับเป็นโครงการริเริ่มสำคัญ ของ บพท. ในการทำงานเพื่อโจทย์ตอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนที่ 6 พื้นที่และเมืองอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายในการสร้าง Engine of Growth และลดความเหลื่อมล้ำ

ในปี 2563 นี้ บพท. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างเมืองศูนย์กลางน่าอยู่/Smart City นำร่อง จำนวน 5 เมือง โดยให้ทุนผ่านมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ให้มหาวิทยาลัยใช้กระบวนการวิจัยไปสร้างกลไก การพัฒนาพื้นที่ และมีมหาวิทยาลัยเป็น Facilitator ให้เมืองขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เองโดยที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่สร้างความรู้สนับสนุน และคาดว่าในปี 2564 จะสามารถสนับสนุนทุนวิจัยนี้เพื่อสร้าง Smart City ได้ถึง 20 เมือง

งานวิจัยด้านการพัฒนาเมือง เป็นงานที่สนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว. (เดิม) โดยสามารถสร้างกลไกพัฒนาเมืองฯ และ กติการ่วมของเมือง เพื่อนำแนวคิด Smart city ไปขับเคลื่อนได้จริงกว่า 20 เมืองทั่วประเทศ และเป็นงานที่สามารถผลักดันเป็นแผนแม่บทที่ 6 พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และเป็น Program 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ในการปฏิรูปการเสนอของบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 ครั้งนี้ด้วย

สำหรับในช่วงบ่ายยังได้แบ่งกลุ่มเวิร์คช็อปการปรับข้อเสนอโครงการวิจัยให้ตรงเป้าหมายและตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการบริหารหน่วย บพท. ดร.สรวิชญ์ เปรมชื่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานเมือง, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา, รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และ ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ก่อนที่จะปิดการประชุมในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเปิดให้ปรับข้อเสนอแผนงานโครงการแล้วส่งกลับเพื่อพิจารณารอบสองในวันที่ 26 ก.พ.นี้

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม กล่าวว่า ได้แบ่งโซนของแต่ละสถาบันการศึกษาออกมาให้ชัดเจน ประกอบไปด้วยโซนภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร (นครปฐม ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ) ภาคตะวันออก (ครอบคลุมพื้นที่อีอีซี -ชลบุรี)ภาคใต้ (สงขลา สุราษฎร์ธานี) ภาคเหนือ(น่าน ลำปาง) และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ขอนแก่น นครราชสีมา)

“เป็นการทำความเข้าใจให้ตรงกันว่ามีเช็คพอยน์อะไรบ้าง มี 6-7 ขั้นตอนที่ควรคำนึงในการจัดทำรายละเอียดแต่ละโครงการ โดยเบื้องต้นจะเป็นการสอบถามรายละเอียดในเครือข่ายแต่ละพื้นที่ที่มีอยู่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร การเช็คข้อมูลดาต้าในพื้นที่ของการสังเคราะห์ต่าง ๆ การวิเคราะห์พื้นที่จุดหลักๆว่าเป็นอย่างไร วิเคราะห์ปัญหาเฉพาะหน้าว่าอีกประมาณ 5 ปีจะเกิดอะไรอีกบ้าง กลไกในพื้นที่มีอะไรบ้าง บริหารจัดการอย่างไร นั่นคือการวิเคราะห์การจัดการในแต่ละพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม ภาคการเมือง เป็นต้น การปรับปรุงแผนเดิมให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นการนำเสนอวิชั่นร่วมกันให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น การยกระดับแผนการว่าจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง โอกาสต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ ตลอดจนการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมดำเนินการหรือร่วมลงทุน ทุกรายการกล่าวถึงความน่าจะเป็นของตัวแผนนั้นๆ และประการสุดท้ายคือ ส่วนอื่นๆจะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างไรบ้าง และจะแสดงออกถึงความเป็นไปได้ของการลงทุนในท้ายที่สุดนั่นเอง”

สำหรับโครงการของทั้ง 20 มหาวิทยาลัยและ 1 หน่วยงานราชการนั้นมาจาก 1.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 4.มหาวิทยาลัยสยาม 5.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 6.มหาวิทยาลัยมหิดล 7.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 9.มหาวิทยาลัยศิลปากร 10.มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 11.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 12.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 13.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 14.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 15.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 16.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 17.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 18.มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 19.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ 21.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button