ท่องเที่ยว

“พิพัฒน์” ปั้นพัทลุง-นครฯ ผงาดแหล่งท่องเที่ยว TOP 100

“พิพัฒน์” คิ๊กออฟ จุดกระแส มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2” เปิดประตู พัทลุง- นครศรีธรรมราช พื้นที่เชื่อมโยง ชูวิถีชีวิตธรรมชาติ วัฒนธรรม เดินหน้าแผน 5 ปีดันขึ้นแหล่งท่องเที่ยว TOP 100 และเมืองสร้างสรรค์โลก

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดกิจกรรม ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา “มหัศจรรย์แห่งวิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา สู่การเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2” ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หลังจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565

ทั้งนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ระยะ 5 ปี ที่มีเป้าหมาย ให้ จังหวัดพัทลุง มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และชุมชนมีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนต่อไป เพื่อสอดรับกับเป้าหมาย การพัฒนาที่จะมุ่งไปสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับคุณภาพสูง

ด้านนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี อพท.จะบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 24 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 57 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 22 แห่ง พัฒนาชุมชนให้ผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 40 ชุมชน โดยจะมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับแผนการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของพัทลุง โดยผลักดันให้ ปากประ จังหวัดพัทลุง ได้เป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 และเมืองพัทลุง ได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ภายในปี 2570 ต้องมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาคุณภาพรองรับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และสอดรับมาตรฐานระดับสากลที่รองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ด้วยหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) นำจุดเด่นเรื่องอัตลักษณ์วิถีชีวิตสะท้อนความเป็นลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ทะเลน้อยซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งดูนกและควายน้ำที่สำคัญ ส่วนที่ปากประมียอยักษ์และวิถีประมง ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว

ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจุดเด่นเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าพรุควนเคร็งซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้นการได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษจะช่วยพัฒนาและยกระดับให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพที่มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาคือ มีงาน มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการเข้ามาพัฒนาของ อพท

สำหรับพื้นพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุม 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ ได้แก่ เมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง บางกล่ำ จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน ควนขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ได้แก่ ชะอวด และหัวไทร ตั้งเป้าหมายพัฒนาและยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริการจัดการตามมาตรฐานสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button