พลังงาน

วิสาหกิจฯปัตตานี MOU ยื่นประมูล 6 โรงไฟฟ้าชุมชนสร้างอาชีพ แก้ปัญหาชายแดนใต้

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ ตระเวนเดินสายเตรียมความวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเข้ายื่นโรงไฟฟ้าชุมชน 133 แห่ง เกือบ 400 เมกะวัตต์ ล่าสุดถึงคิว “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศิริมงคลปัตตานี” ลงนาม MOU กับภาคเอกชน แต่งตัวยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 6 โรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา มั่นใจสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ทำให้ก้าวข้ามความยากจนสู่ความเข้มแข็งแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ เดินทางใกล้เข้าสู่เส้นชัยการเปิดยื่นข้อเสนอในเดือนมีนาคม 2563 นี้ ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเรียบร้อยไปแล้ว

ทางด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศก็ตื่นตัวเตรียมเข้าประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 133 โรง จำนวนเกือบ 400 เมกะวัตต์โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศิริมงคลปัตตานี บ้านท่าน้ำ ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ระหว่างวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กับภาคเอกชน เพื่อยื่นเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา จำนวน 6 โรง

โดยนายนฤพล วันทูล ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ เปิดเผยว่า  เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศิริมงคลปัตตานีได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ ไบโอแก๊ส ระหว่างภาคเอกชน กับคณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ พร้อมกับได้ติดตามความพร้อมเชิงพื้นที่ด้วยการจัดเตรียมสำนักงานวิสาหกิจชุมชน  กรรมการบริหาร และพนักงาน  รวมถึงสถานที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดสงขลา  ประกอบด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด แห่ง ที่มาจากจังหวัดปัตตานี  นราธิวาส ยะลา และสงขลา 

“ภายหลังการลงนามเอ็มโอยู กันแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังได้ซักช้อมการจัดทำฐานข้อมูลสมาชิก  ที่ดินที่จะใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า การอบรม และสรุปแผนงานดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ด้วย

ด้านนายมะแอ สะอะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศิริมงคลปัตตานี กล่าวว่า ถ้าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวบ้านได้ เป็นการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้าน เพราะจะรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ และหญ้าชูกัน เป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า ตอนนี้เกษตรกรรอบโรงไฟฟ้ามีพื้นที่พร้อมอยู่แล้วโรงละ 2,000 กว่าไร่ รวมถึงจะมีรายได้จากส่วนแบ่งอีก 25 สตางค์ต่อหน่วย และชุมชนยังได้เป็นเจ้าของเข้าไปถือหุ้นโรงไฟฟ้าอีก 10ด้วย

ทางกลุ่มวิสาหกิจมีแผนจะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจังหวัดสงขลาด้วยจำนวน 6 โรงๆ ละ 3 เมกะวัตต์ ผมมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าจะเกิดได้แน่นอน เพราะสร้างรายได้ให้กับชุมชน อย่างน้อยได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกรอบๆ โรงไฟฟ้าได้ถึง 200 ครัวเรือนมะแอ กล่าว

ขณะที่นายวิฑูร หนูแสน ผู้บริหารเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ กล่าวเสริมว่า หลังจากลงนาม MOU กันแล้ว แต่ละพื้นที่จะดำเนินการรวบรวมสมาชิกวิสาหกิจให้ได้ 200 ครัวเรือน เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์ จำนวน 2,500 ไร่ เตรียมไว้ป้อนโรงไฟฟ้า ซึ่งจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ตลอด 20 ปี และชุมชนยังจะได้เข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้า 10% ด้วย ซึ่งตอนนี้ชุมชนมีความต้องการโรงไฟฟ้าชุมชนมาก เพราะมั่นใจจะทำให้ชาวบ้านก้าวข้ามความยากจนสู่ความเข้มแข็งได้ เมื่อแต่ละครัวเรือนในชุมชนมีรายได้เข้ามา ก็จะหลุดพ้นจากความยากจน นำไปสู่ความร่มเย็นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาความขัดแย้ง แถมตอนนี้เศรษฐกิจก็ฝืดเคืองอีก ยางพาราประสบปัญหาราคาตกต่ำ รายได้จากการทำประมงก็ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ชาวบ้านจึงต้องการโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาแก้ปัญหาปากท้อง มาสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เมื่อความยากจนหายไปก็จะเกิดความสงบ ร่มเย็นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button