การเกษตร

“กรมชลประทาน” ลงพื้นที่เดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำ “โป่งสามสิบตอนบน” ชาวบ้านยกมือหนุนโครงการ

ชาวบ้าน อบต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์  ยกมือหนุนสร้างอ่างเก็บน้ำ “โป่งสามสิบตอนบน” หวังแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก และมีน้ำเพียงพอทำการเกษตร ฝากภาครัฐเร่งมือก่อสร้างหวั่นที่ดินที่ย้ายไปอยู่ใหม่ราคาพุ่ง  ขณะที่ “กรมชลประทาน” เดินหน้าลงพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เผยเริ่มก่อสร้างปี 2568 ยืนยันค่าชดเชยโปร่งใสและเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 กรมชลประทาน โดยสำนักบริหารโครงการ ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาคลองบางสะพานใหญ่ และมีความสำคัญที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

นายสุรชาติ  มาลาศรี  ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

โดยนายสุรชาติ  มาลาศรี  ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจสถานที่ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ว่า ขณะนี้แผนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน ขนาดความจุน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการสำรวจและออกแบบ เริ่มก่อสร้างภายในปี 2568-2569 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 3-4 ปี

สำหรับอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาไชยราช และป่าคลองกรูด จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (IEE) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เรื่องการทบทวนการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการของหน่วยงานรัฐที่ต้องเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยกำหนดให้โครงการประเภทอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน C) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ไร่ แต่ไม่ถึง 500 ไร่ ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 9 พันไร่ ซึ่งมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญต้องการใช้น้ำ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด มีความต้องการใช้น้ำเฉลี่ย 12.98 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาคลองบางสะพานใหญ่ร่วมกับอ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง และอ่างเก็บน้ำคลองลอยตอนล่าง มีพื้นที่น้ำท่วมลดลง 7,144 ไร่ หรือลดลง 27% รวมถึงจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขายพันธุ์สัตว์น้ำจืดสำหรับการประมงพื้นบ้านด้วย และยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของชุมชน ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นและจังหวัดด้วย

ทั้งนี้ เมื่อพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ราคาสูงขึ้น รูปแบบการเพาะปลูกอาจเปลี่ยนแปลง ตามความต้องการของตลาดโลก จึงมีความต้องการใช้ปริมาณน้ำจากระบบชลประทานสูงขึ้นตามไปด้วยในอนาคต สำหรับความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชนในพื้นที่ปัจจุบัน 0.28 ล้าน ลบ.ม./ปี คาดการณ์ในอีก 5 เท่ากับ 0.29 ล้าน ลบ.ม./ปี ช่วง10 ปี ประมาณ 0.30 ล้าน ลบ.ม./ปี และ ช่วง  20 ปี ประมาณ 0.33  ล้าน ลบ.ม./ปี สำหรับความต้องการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อย และเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรแปรรูป จึงมีผลต่อแผนศึกษาดังกล่าวน้อยมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน  หมู่ 7 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.ทองมงคล  อ.บางสะพาน เป็นอ่างเก็บน้ำความจุ 10 ล้าน ลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 592 ไร่ ความยามเขื่อนสันดิน 1,005 เมตร ความสูงเขื่อน 30 เมตร  จัดส่งน้ำให้ชุมชนด้วยระบบท่อ พื้นที่รับประโยชน์ของเกษตรกร 9,000 ไร่   จัดส่งน้ำให้ชุมชนด้วยระบบท่อ เพื่อส่งน้ำไปยังชุมชนพื้นที่ต่างๆ เพื่อส่งน้ำชลประทานไปยังพื้นที่ต้องการอ่างมีประสิทธิภาพ  การใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 870 ล้านบาท

สำหรับการสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 57 ราย ที่ดิน 115 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 1 พันไร่ โดยกรมชลประทานได้เตรียมเงินไว้จ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนแล้ว จำนวน 450 ล้านบาท ครอบคลุมที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง พืชผล และไม้ยืนต้น ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์ มีจำนวน 701 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 9 พันไร่

“ผมขอยืนยันว่าขั้นตอนการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินมีความโปร่งใส และเป็นธรรมกับประชาชนทุกคน”  ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าว

นายอำพันธ์ เขียวเพกา สมาชิก อบต. ทองมงคล (ซ้ายมือ)

ด้านนายอำพันธ์ เขียวเพกา สมาชิก อบต. ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การที่กรมชลประทานจะมาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน ตนมองว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นอย่างมากเลย โดยเฉพาะภาคการเกษตร ภาคครัวเรือน เพราะในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอในการอุปโภคและบริโภค แต่ถ้าหากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำฯ ได้จริงก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 3,4,7และ 8 พื้นที่ที่อยู่ด้านล่างอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ใกล้เคียง

“ผมขอฝากว่า ถ้าเห็นว่าโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งสามบินตอนบนสามารถสร้างได้สำเร็จจริง ผมอยากจะให้รีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ชาวบ้านไม่อยากเห็นผ่านไปแล้ว 5 ปี 10 ปี ก็ยังรอโครงการอยู่ มันจะเสียความรู้สึก เพราะว่าที่ดินในพื้นที่จะนำไปสร้างอ่างเก็บน้ำชาวบ้านจะเอาไปทำอะไรก็ไม่กล้า” นายอำพันธ์ กล่าว

นายยงยุทธ จันทร์ปา ชาวบ้านหมู่ที่ 7 บ้านทรัพย์สมบูรณ์

นายยงยุทธ จันทร์ปา ชาวบ้านหมู่ที่ 7 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสมสิบตอนบน และขอให้ทางภาครัฐรีบดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จเร็วๆ เพราะถ้าหากช้าจนเกินไป ที่ดินที่จะไปซื้อไปใหม่ก็จะมีราคาสูงขึ้นตามไป

“ที่ดินสวนยางพาราของผม 70 กว่าไร่ อยู่ในเขตที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำฯ ทั้งหมดเลย ผมก็ต้องไป ไม่มีปัญหาอะไร ขอแค่ค่าชดเชยพอที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นได้เท่านั้นเอง”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button