ยานยนต์

เดือด ! 37 ทีมเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ กฟผ. ลุยเปิดตัวโครงการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 2 ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า สอดรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไทย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นำโดย คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ คุณสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ผศ. ดร. อุเทน สุปัตติ หัวหน้าโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต และอุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาเขตศรีราชามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เเถลงข่าวเปิดตัวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 2 (2nd EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity) ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี

โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต (2nd EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ชิงถ้วยรางวัลชนะเลิศจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเงินรางวัลรวมมูลค่าสูงสุดกว่า 450,000 บาท การเเข่งขันจะมีขึ้นในวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี (รอการอนุมัติอย่างเป็นทางการ)

คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อยอด คือ การพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับอนาคตและเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับการจัดการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคตในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 เเล้ว ซึ่งในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 73 ทีม แบ่งเป็น ประเภททีมสถาบันการศึกษา 58 ทีม และประเภททีมประชาชนทั่วไป 15 ทีม ซึ่งทางสมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก สถาบันยานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิกส์ (PTEC) บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อินโนวาแพค จำกัด และบริษัท โมโตอีวี จำกัด ได้ให้ความร่วมมือกับสมาคมฯ จัดอบรมในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงกฎกติกาการแข่งขัน สำหรับทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันเมื่อวันที่ 12 – 13 มกราคมที่ผ่านมานี้ ผมจึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันมา ณ ที่นี้ด้วย

ด้านคุณสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. เผยว่า กฟผ. ดำเนินภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือ รถ ZEV ให้ได้อย่างน้อย 30% ในปี พ.ศ. 2573

สำหรับโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 2 ซึ่ง กฟผ. สนับสนุนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยเล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาขยายผลใช้งานภายใน กฟผ. ได้ รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และเป็นโอกาสในการเเสดงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัย ที่สามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตลอดจนเป็นการสร้างโมเดลทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และโมเดลธุรกิจ BCG ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมา กฟผ. ส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2559 รวมถึงส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้พัฒนาเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูงจนนำไปสู่การติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ปี 2562 และต่อยอดใช้ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมอาชีพรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะในพื้นที่รอบ กฟผ. อ.บางกรวย เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน

สำหรับการเเข่งขันในปี 2565 ปีที่ผ่านมาประเภทกลุ่มสถาบันการศึกษาทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม
E-TECH-Motorcycle2021 จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) และทีมนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษรางวัลขวัญใจมหาชนอีกด้วย ส่วนการเเข่งขันประเภทประชาชนทั่วไป ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ทีม Itimgarage X Crafting lab โดยเเต่ละทีมที่ชนะเลิศได้รับเงินรางวัลรวมทีมละ 100,000 บาทจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เกี่ยวกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 360 รายโดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุมในทุก ๆเดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button