ประกันภัย

“วิริยะประกัน” ปี 65 ขาดทุนประกันภัยโควิด 9 พันล้าน ปี 66 ตั้งเป้ากวาดเบี้ย 4.3 หมื่นล้าน รักษาแชมป์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า มอง “รถยนต์ไฮโดรเจน” ยังมีความเสี่ยง 

“วิริยะประกันภัย” เผยปี 2565 ขาดทุนจากประกันภัยโควิด 9 พันล้านบาท จากยอดจ่ายค่าเคลม 2 หมื่นล้านบาท ยันสถานะบริษัทยังมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์เกือบ 70,000 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 154.97% เดินหน้าประกาศเป้าหมายปี 66 กวาดยอดขาย 43,000 ล้านบาท เติบโต 6% พร้อมลุยเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มยอดอีก 2,000 คัน แต่ยังไม่กล้ารับทำประกันภัย “รถยนต์ไฮโดรเจน” เหตุยังมีความเสี่ยงสูง 

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนประมาณ 9,000 ล้าบาท จากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด โดยจ่ายค่าเคลมไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่มีผลประกอบการจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ดีขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้รถยนต์ออกมาวิ่งตามท้องถนนได้น้อยลง  ยอดเคลมจึงน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่อยากให้เป็นห่วงกันมากจากตัวเลขที่มีการขาดทุน เพราะสถานะการเงินของวิริยะประกันภัยยังคงมีความมั่นคงเหมือนเดิม โดยมีสินทรัพย์อยู่ที่ 69,946.94 ล้านบาท ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 154.97%

ทั้งนี้ ในปี 2565 วิริยะประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 40,991 ล้านบาท เติบโต 5.78% แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35,847 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์ หรือนอนมอเตอร์ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 5,144 ล้านบาท

ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2566 นี้ นายอมรเปิดเผยว่า วิริยะประกันภัยยังคงใช้รากฐานความคิดที่เป็นปรัชญาในการทำธุรกิจที่ยึดมั่นมาตลอด 76 ปี และกลายเป็น DNA ของวิริยะประกันภัยไปแล้ว นั่นคือ “ความเป็นธรรม คือนโยบาย” และยังคงใช้กลยุทธ์ในการยึดหลักของลูกค้าเป็นศูนย์กลางเหมือนเดิม แต่ต้องตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้เพื่อที่ วิริยะประกันภัยยังคงเป็นที่หนึ่งแห่งความเชื่อมั่นในทุกมาตรฐานประกันภัย โดยได้ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 ไว้ประมาณ 43,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 6 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 37,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 5 เบี้ยประกันภัยนอนมอเตอร์ประมาณ 5,700 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 11

นายอมร เปิดเผยต่อไปอีกว่า ส่วนกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 66 นี้จะอยู่ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งนวัตกรรมบริการ : ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมต่อยอดพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมบริการ โดยจะมุ่งเน้นให้หน่วยงานของบริษัทฯ ที่มีเครือข่ายอยู่ทุกทิศทั่วไทยมีมาตรฐานทางเทคโนโลยีเดียวกัน มีนวัตกรรมบริการที่สอดรับความต้องการแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ได้วางเป้าประสงค์หลักไว้ 3 เป้าหมายด้วยกัน คือ เป้าหมายด้านช่องทางการขาย ด้วยการยกระดับให้สำนักงานมาตรฐานตัวแทนเป็นสำนักงานดิจิตอล สามารถออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้ด้วยตัวของสำนักงานเอง ทั้งกรมธรรม์ตัวจริงหรือกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งตรงถึงมือถือลูกค้าทันทีที่ได้มีการตกลงทำสัญญาประกันภัย นั่นก็หมายความว่า จะเกิดความสะดวกทั้งตัวแทนวิริยะประกันภัย และลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปมาซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ลูกค้ายังมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองแน่นอนและทันทีที่ได้ตกลงทำสัญญาประกันภัย

ในขณะที่เป้าหมายด้านการบริการสินไหมทดแทน นอกจากระบบเคลมออนไลน์ “VClaim on VCall” ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ขยายบริการไปทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้วิริยะประกันภัยยังคงขยายพื้นที่ให้บริการที่เรียกกันว่า “จุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุ” ออกไปทั่วไทย ด้วยการใช้ข้อมูลเป็นตัววิเคราะห์เพื่อหาจุดสมดุลบริการอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังได้จัดหา AI มาทำหน้าที่ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ควบคู่กับพนักงานสินไหมทดแทนที่มากประสบการณ์ เพื่อที่จะได้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ส่วนทางด้านการรับประกันภัยรถไฟฟ้า นายอมรกล่าวว่า วิริยะประกันภัยได้เตรียมความพร้อมมากว่า 4 ปีแล้ว โดยได้ศึกษามาตั้งแต่วิวัฒนาการจากรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด จนมาสู่ระบบไฟฟ้าเต็มตัว ซี่งเป็นการพัฒนาร่วมกันกับผู้ประกอบการ ตลอดไปถึงสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านนี้ อีกทั้งความรู้ที่ได้รับและผลพันธ์ที่ได้พัฒนาร่วมกันดังกล่าว ได้ส่งต่อไปเป็นองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านสินไหมทดแทน และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัย ซึ่งในปีนี้จะขยายองค์ความรู้ไปยังกลุ่มตัวแทนนายหน้าในสังกัดอีกด้วย โดยในปัจจุบันวิริยะประกันภัยได้ให้ความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 5,286 คัน และยังคงเป็นบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน

“ทางวิริยะประกันภัย คิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถสันดาปทั่วไปประมาณ 10% โดยศึกษาเทียบเคียงข้อมูลพื้นฐานของบริษัทที่ทำประกันภัยรถยนต์สันดาปอยู่แล้ว ในปี 2566 ได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าอีก 1,000-2,000 คัน และมองว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการขยายตัวายังจะเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ต้องรอดูนโยบายการเมืองและรัฐบาลใหม่ที่จะให้การส่งเสริมด้วย รวมถึงการแยกความคุ้มครองแบตเตอร์รี่ ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยกำลังหารือกับทาง คปภ. ส่วนการรับทำประกันภัยรถยนต์ไฮโดรเจน คงต้องรอให้มียอดการใช้รถยนต์ประเภทนี้ถึง 5,000 คันขึ้นไปก่อน ถึงจะคุ้มทุนไม่มีความเสี่ยงในการรับทำประกันภัย”

ทางด้าน นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านบริการว่า ในรอบปีที่ผ่านมาวิริยะประกันภัยได้พัฒนาเทคโนโลยี ส่งมอบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตัวแทนและคู่ค้า เพื่อสร้างคุณค่าที่แตกต่างส่งมอบให้กับลูกค้า ดังเช่นในปัจจุบันนี้สำนักงานตัวแทนวิริยะประกันภัยสามารถใช้โปรแกรมออกกรมธรรม์เองได้เลย รวมถึงระบบตรวจสภาพรถยนต์ผ่านออนไลน์ก่อนทำประกันภัยอีกด้วย นั้นก็หมายความว่าลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองที่รวดเร็วและเชื่อถือได้

ในขณะที่งานบริการหลังการขาย โดยเฉพาะการบริการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารงานของวิริยะประกันภัย  จนได้รับการยอมรับและยังคงเป็นบริษัทประกันวินาศภัยอันดับ 1 มาจนทุกวันนี้ ดังนั้นวิริยะประกันภัยจึงเดินหน้าสานต่อนโยบายบริหารสินไหมแบบองค์รวม กล่าวคือ ดูแลทุกองค์ประกอบสำคัญของงานสินไหมซึ่งความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและสอดประสานกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้แก่ เครือข่ายศูนย์บริการสินไหม (Network), บุคลากร (People) , ข้อมูล (Data) และนวัตกรรม (Innovation) หรือ NPDI

ในขณะที่งานสรรหาและพัฒนานวัตกรรมประกันภัยใหม่ ๆ (Innovation) ที่จะมาช่วยพัฒนาระบบงานสินไหม สนับสนุนการทำงานของพนักงานด้านสินไหม และสำคัญที่สุดคือเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้ผู้เอาประกันภัย วิริยะประกันภัยมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ในการขับเคลื่อนบริการสินไหมทดแทนด้วยนวัตกรรมด้านประกันภัยที่ทันสมัย เช่น การดูแลสินไหมรถยนต์ EV ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งโซนยุโรปและเอเชีย ต่างก็แข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ EV เนื่องจากได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย หลายค่ายทยอยเปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับวิริยะประกันภัย เรามีความพร้อมอย่างเต็มกำลังในการรองรับตลาดรถยนต์ EV ทั้งในส่วนบุคคล และเชิงพาณิชย์ เนื่องจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจชั้นนำ หรือแม้แต่องค์กรภาครัฐต่างก็หันมารณรงค์การใช้รถยนต์ EV เพื่อขับเคลื่อน Green Economy System สร้างเศรษฐกิจควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมไทยเติบโตแบบยั่งยืน

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนงานด้านการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ Non-Motor ว่า เป้าหมายปี 2566 วิริยะประกันภัยมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ด้วยการวางแผนขยายอัตราส่วนประกันภัย Non-Motor เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 10.65% ประมาณการเบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ 5,694 ล้านบาท โดยยังคงมุ่งเน้นที่จะขยายงานผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Line เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยอะไหล่รถยนต์ รวมถึงประกันภัยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย

“กลยุทธ์ในการขยายงานประกันภัยส่วนบุคคลในปีนี้ของเรา คือ การต่อยอดจากช่องทางตัวแทน นายหน้าที่เป็นช่องทางการขายที่มีศักยภาพสูงของบริษัทฯ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย ไม่ว่าจะประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันการเดินทาง และประกันอะไหล่รถยนต์ ที่สามารถนำเสนอควบคู่ไปกับประกันรถยนต์ภาคสมัครใจได้เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกันบริษัทเองยังมุ่งเน้นในการขยายงานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มลูกค้า SME เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์ธุรกิจปลอดภัย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจ SME’s” นางฐวิกาญจน์ กล่าวในที่สุด

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button