ถกเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้า-การรับประกันแบตเตอรี่
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยนำผู้แทนบริษัทรถยนต์เข้าร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมด้วยสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ถกประเด็นเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้า และการรับประกันแบตเตอรี่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคนิคและเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นำโดย คุณ กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจากค่ายรถยนต์ 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด, บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เนต้า ออโต้ ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย ) จำกัด และบริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เพื่อร่วมหารือแนวทางการเเก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเบี้ยประกันสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายในทั่วไป รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคของแบตเตอรี่ในประเภทต่างๆ กรณีที่เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัย
สืบเนื่องจากจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อ้างอิงจากข้อมูลกรมขนส่งทางบก ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทุกประเภทมีจำนวน กว่า 36,775 คัน (อ้างอิงสถิติการจดทะเบียนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566) และมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สำนักงานคปภ. สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำต่างๆ เห็นพ้องต้องกันถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และการกำหนดเบี้ยประกันที่เหมาะสม ให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยข้อสังเกตุในปัจจุบันนั้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีอัตราเบี้ยประกันภัยสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในราว 20-30%
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องปัญหาและอุปสรรคของการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่ลักษณะการซ่อมแซมของรถยนต์ไฟฟ้า ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของศูนย์บริการในการประเมินความเสียหาย เพื่อตัดสินใจในการซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคของสำนักงานใหญ่ของแบรนด์นั้นๆ ในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ เพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ปัญหาไม่ถูกจุด อันจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบยกชุด และจะมีผลให้อัตราค่าสินไหมทดเเทนของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิค ข้อมูลทางสถิติ และเพื่อร่วมกันสื่อสารข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการรับประกันภัยยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำหรับผู้บริโภค
ในส่วนของการประชุมได้ตกลงกันว่า ในช่วงนี้บริษัทประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันเพิ่มเติม โดยบริษัทประกันภัยจะคงราคานี้ไว้ก่อน แม้อัตราค่าสินไหมทดเเทนของรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายในมากก็ตาม
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เผยว่า “รถยนต์ไฟฟ้าได้เข้ามามีบทบาทสำคัญใน วงการยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการลดการใช้พลังงานเชื่อเพลิง และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เเต่ในขณะเดียวกัน เบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้ากลับเเพงกว่าเบี้ยประกันของรถยนต์ทั่วไปอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูเเลธุรกิจประกันภัย ได้มีการร่วมถกประเด็นสำคัญนี้กับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย รวมถึงตัวเเทนจากค่ายรถยนต์ชั้นนำในประเทศไทย เพื่อหารือข้อสรุป เพื่อเเก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางความร่วมมือในวันนี้จะช่วยลดภาระการชำระเบี้ยประกันภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้”
ด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เล็งเห็นถึงปัญหาค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่แพงกว่ารถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูลสถิติและความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าอีกมากมายมาประกอบการพิจารณาเพื่อคำนวณความเสี่ยงจากการเคลมชิ้นส่วนสำคัญ เช่นแบตเตอรี่แรงดันสูง ทางสมาคมฯได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมทั้งได้เชิญบริษัทรถยนต์ชั้นนำต่างๆที่เป็นสมาชิกของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มาร่วมชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบแบตเตอรี่และมาตรฐานการซ่อม การเปลี่ยนโมดูลแบตเตอรี่ฯลฯ เพื่อใช้ประกอบข้อมูลในการวางแนวทางการประเมินเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นธรรมสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต”