เทคโนโลยี

กทปส. ส่งต่อความเข้าใจ “คนไทยกับสังคมพหุวัฒนธรรม” หนุนสารคดีสร้างสรรค์ “SOME ONE หนึ่งในหลาย” คอนเทนต์สร้างการเปิดใจในสังคมที่แตกต่าง

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยสำนักงาน กสทช. เดินหน้าสร้างความสุขสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมกระตุ้นคนไทยเข้าใจการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย หนุนทุนการผลิตสื่อจาก กทปส. ให้กับบริษัท สื่อดลใจ จำกัด ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด ผลิตสารคดีชุด SOME ONE หนึ่งในหลาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ อาทิ ครอบครัวที่หลากหลาย การอยู่ร่วมกันบนความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ความหลากหลายทางเพศ ชีวิตคนไทยในต่างแดน ชีวิตคนต่างชาติในไทย ซึ่งมีกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการขับเคลื่อนสังคมพหุวัฒนธรรมด้วย โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD 30 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30-10.00 น. หรือติดตามผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั้ง Facebook และ YouTube ภายใต้ชื่อ “สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย”

กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า สังคมพหุวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกกำลังตระหนักและพูดถึงเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของ กทปส. ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และต้องการส่งเสริมให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายได้ จากประเด็นดังกล่าวจึงได้ผลักดันการตระหนักรู้ให้อยู่ในรูปแบบของ “สื่อ” เพื่อช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านความหลากหลายจากทุกแง่มุมในสังคมไทยที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยกระดับให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ เรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมผ่านสารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย โดยได้สนับสนุนทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยสำนักงาน กสทช. ให้กับบริษัท สื่อดลใจ จำกัด สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด ผลิตสารคดีชุดนี้ ซึ่งหวังว่าจะทำให้เกิดความเคารพ ที่ไม่ “ละเลย” หรือ “ละเมิด” บุคคลใด ให้เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีประเด็นในด้านการยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเกิดขึ้นกับทุก ๆ ช่วงวัย โดยการยอมรับความแตกต่างไม่ได้จำกัดแค่เรื่องความคิดเห็น หรือการแสดงออกเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการยอมรับและเคารพในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี หรือแม้แต่กระทั่งรูปแบบการใช้ชีวิต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือประชาชนบางกลุ่มไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงแก่นที่แท้จริง รวมทั้งยึดถือความเชื่อและทัศนคติที่ถูกปลูกฝังเดิม ๆ จนทำให้เกิดความขัดแย้ง มีการละเมิดสิทธิคนในสังคม เกิดอคติทางความคิด อีกทั้งยังนำมาซึ่งการละเลย – เลือกปฏิบัติ การกลั่นแกล้ง รวมถึงปรากฏการณ์ของ “สังคมบุลลี่” ที่กำลังลุกลามในสังคม นอกจากนี้ ยังพบว่าการถูกปลูกฝังชุดความคิดเดิม ๆ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการนำเสนอของ “สื่อ” จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ที่ช่องทางดังกล่าวด้วยการนำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อช่วยทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมบางประการ”

ด้านนางขวัญเรือน ถาวรทวีวงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สื่อดลใจ จำกัด ผู้สร้างสารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบเปิด ที่พร้อมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ วิถีชีวิต พลเมืองไร้พรมแดน หรือกลุ่มบุคคลพิเศษเข้ามาอยู่ร่วมกัน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสังคมพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะที่โดดเด่น หรืออาจมีลักษณะที่ทับซ้อนกันระหว่างกลุ่มบ้าง ถือเป็นเรื่องที่ปรากฏได้ทั่วไป ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการเติบโตแล้ว ยังช่วยเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเห็นมุมมองของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่มีการศึกษาเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมในหลากหลายมุมมองอย่างเข้มข้น

โดยแต่ละประเทศมีเรื่องราวที่โดดเด่นแตกต่างกันไป อาทิ เนเธอร์แลนด์ ที่ให้ความสำคัญกับทรานส์เจนเดอร์ เพราะการแปลงเพศถือเป็นส่วนหนึ่งของประกันขั้นพื้นฐานของประชากร และมีการดูแลเป็นอย่างดี เกาหลีใต้ ที่ใช้วัฒนธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือที่เราคุ้นชินกับคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งทำให้วัฒนธรรมเกาหลีถูกส่งออกผ่านสื่อได้ รวมถึงการโชว์วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ผ่านเพลง ซีรีส์ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมของเกาหลีกันอย่างล้นหลาม หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่ใส่ใจความหลากหลายในสังคมโดยเฉพาะคนพิการ โดยมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และปรับทัศนคติคนในสังคมเพื่อให้เข้าใจความต่างระหว่างบุคคล และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมถึงมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใช้งานได้กับคนทุกกลุ่มที่เรียกว่าการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ทั้งนี้ สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย ได้นำมุมมองสังคมพหุวัฒนธรรมของต่างประเทศมาถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาสารคดีในชุดนี้ด้วย

“บริษัท สื่อดลใจ จำกัด ได้ผลิตสารคดีชุด SOME ONE หนึ่งในหลาย โดยร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิจัยด้านพหุวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ในรูปแบบสารคดี ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. นำมาผลิตรายการโทรทัศน์ในรูปแบบสารคดี ที่สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในพหุสังคมในมิติต่าง ๆ อาทิ เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วิถีการใช้ชีวิต ทัศนคติ ความเชื่อ ซอฟต์พาวเวอร์ พลเมืองไร้พรมแดน ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความธรรมดาที่แสนพิเศษของผู้พิการ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชน สังคม และประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมเป็นไปได้อย่างสันติ บนแนวคิดแตกต่างแต่ไม่แตกแยก นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”

นางขวัญเรือน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะสื่อหลัก แต่ยังมีสื่อทางเลือกอีกมากมายที่เปิดพื้นที่สาธารณะให้ได้นำเสนอเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มคนมากขึ้น การมีพื้นที่สื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้แบ่งปันเรื่องราวมุมมองความแตกต่างในสังคมให้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น จะช่วยให้ประเด็นความแตกต่างในสังคมได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับ สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD 30 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30-10.00 น. หรือติดตามผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั้ง Facebook และ YouTube ภายใต้ชื่อ “สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย”

ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-1113 และ 02-554-1114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button