พลังงาน

SGTech ม.นเรศวร เปิดต้นแบบ  Smart Container เตรียมต่อยอดสู่ชุมชน 350,000 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGTech) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ Smart Container for Smart Microgrid Technology ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมด้าน Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร,รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ, ดร.จักรพรรณ คงธนะ พร้อมด้วยคณาจารย์ และนักศึกษาให้การต้อนรับ โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

สำหรับ Smart Container เป็นการสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงสถานที่ตามความต้องการชุมชนได้อย่างเหมาะสมตลอดเวลา โดยชุมชนสามารถพึ่งพาระบบ Smart Micro Grid Platform และการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีระบบโครงข่าย Internet และ ระบบ Cloud ที่มีความเท่าเทียมกับการอยู่ในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ดังนั้น Smart Container จะตอบโจทย์สังคมเมืองอัจฉริยะที่กำลังเกิดขึ้นจริงในวันนี้และนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัท เอดีซี ไมโครซิสเต็มส์ จึงมีโครงการความร่วมมือกับวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGTech) ในการนำความคิดการพัฒนาต้นแบบ Smart Container Village พร้อม Platform ที่สามารถใช้งานได้จริงเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจสร้างชุมชนใหม่ด้วย Smart Container และสามารถขยายผลให้อยู่ร่วมกับสังคมเดิมได้ ทั้งในตัวเมือง ชานเมือง และในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลที่มีธรรมชาติสวยงามได้ การจัดทำระบบต้นแบบ Showcase สาธิตในพื้นที่ของ  SGTech ซึ่งประกอบด้วย Smart Home,Smar Office,Smart Care,Smart Micro,Smart Cafe & Restaurnt, Smart Beauty Salon, Smart Farm, Smart Power Service Container

โครงการ Smart Container จะเป็นต้นแบบการฝึกอบรม การวิจัยพัฒนา และการทำธุรกิจที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ความสำเร็จของโครงการเนื่องจากเป็นระบบนิเวศน์ที่สร้างรายได้ให้กับประชากรสูงมากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และจะมีการขยายผลไปสู่ธุรกิจในชุมชนของประเทศมากถึง 350,000 ชุมชนด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ส่งเสริมเมือง Smart City จากสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งมีวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินโครงการ และเป็นศูนย์กลางในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน Smart Grid Technology และ Smart City and Digital Innovation โดยมุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเอกชนและชุมชน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล วิทยาลัยฯ จึงพัฒนาโครงการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรม Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเป็นแหล่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ต้องการความรวดเร็วและเท่าทันต่อเหตุการณ์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร

สำหรับโครงการ Smart Container for Smart Microgrid ได้นำไปสู่การขยายผล กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ราคาไม่แพงด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารรถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ peer-to-peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัยเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มดำเนินธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน เช่น เป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างง่ายขึ้น

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินโครงการ Smart Container for Smart Microgrid Technology  ภายใต้การดำเนินโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (NU Smart City) ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นการแชร์สมาร์ตกริดจากโซลาร์เซลล์ จำนวน 600 กิโลวัตต์ไปใช้กับอาคารต่างๆ ทีมีอยู่ 5-6 หลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ได้เปิดโครงการนำร่องสมาร์ตกริดเชื่อมกับตู้คอนเทนเนอร์ เหมาะสำหรับธุรกิจรายย่อย รายเล็ก เช่น ธุรกิจร้านกาแฟ, ทำร้านอาหาร และรถทรัคฟู้ดส์ รวมถึงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ดำเนินการก่อสร้างถนนในชนบทก็สามารถใต้ตู้คอนเทนเนอร์อัจฉริยะนี้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นการยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศที่ต้องเตรียความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างศักยภาพการแข่งขันเวทีโลกด้วย

สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ รวมถึงการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นับเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะต้องตื่นตัวและเตรียมรับมือเมกะเทรนด์ และเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งไม่เพียงแค่ก้าวให้ทันโลกในยุคสังคม Next New Normal แต่ต้องลงมือทำเพื่อให้หลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ของโลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต่อไปได้อย่างไร

“การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการบริหารจัดการด้วยการสร้าง Ecosystem ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันการศึกษา นักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญมาพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มีความชาญฉลาด เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานสะอาดร่วมกับการลงทุนใหม่ๆ เช่น กลุ่ม startup FinTech และ Climate Tech พร้อมกับความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button