พลังงาน

กฟผ. เปิดตัวต้นแบบ “ป่าแม่งาว” จ.ลำปาง ขึ้นทะเบียนเป็น Premium T-VER แห่งแรกของประเทศไทย

กฟผ. เปิดตัวต้นแบบป่าพรีเมี่ยมลดคาร์บอน อบก. ชูสภาพป่าต้นน้ำ “ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา” จ.ลำปาง บนเนื้อที่เกือบ 2 พันไร่ ขึ้นทะเบียนเป็น Premium T-VER แห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นความสำคัญกับความยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่าไม้ เดินหน้าสู่เป้าหมายปลูกป้าให้ครบ 1 ล้านไร่ ภายในปี 2574

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ตลาดคาร์บอนมีความสำคัญในฐานะกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรม ซึ่งจะช่วยชะลอและลดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ หน่วยงานนานาชาติหลายแห่งรวมถึงภาครัฐจึงเริ่มกำหนดหลักการ และมีทิศทางความต้องการคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง ตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2563

การพัฒนาโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) เป็นอีกเครื่องมือในการลดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้มข้นมากขึ้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เลือกพื้นที่การดำเนินงานภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ในพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง เพื่อทดสอบระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทป่าไม้ เครื่องมือการคำนวณที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำผลที่ได้รับไปปรับปรุงสำหรับใช้เป็นแนวทางในการขยายผลต่อไป

ล่าสุด อบก. ร่วมกับ กฟผ. กรมป่าไม้ และ มก. ได้เปิดตัวพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา จ.ลำปาง บนพื้นที่ 1,861.72 ไร่ ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นต้นแบบ Premium T-VER ภาคป่าไม้ ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างความยั่งยืนให้กับป่าและชุมชนโดยรอบ สามารถฟื้นฟูและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ และผลพลอยได้ที่ตามมาจะสามารถเก็บคาร์บอนได้ปีละ 912 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2581

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมดำเนินโครงการ T-VER ตั้งแต่ปี 2557 ผ่านโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าและกิจการของ กฟผ. จำนวน 10 โครงการ นับคาร์บอนเครดิตได้ 410,746 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ ยังดำเนินภารกิจองค์กรเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลาปี พ.ศ. 2574

ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการปลูกป่าไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเพื่อให้เกิดต้นแบบการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ กฟผ. จึงยื่นขอขึ้นทะเบียนยกระดับมาตรฐาน T-VER ให้เป็น Premium T-VER ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ระดับสากลแห่งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการร่วมกับพันธมิตร เลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบโครงการ Premium T-VER แห่งแรกของประเทศ

“แนวทางการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ภายใต้แนวคิด ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ และปลูกที่ป่า ปลูกที่ท้องหมายถึงส่งเสริมการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างร่วมกับเครือข่าย ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยการจัดตั้งศูนย์เพาะพันธุ์และกระจายกล้าไม้ ปลูกที่ใจ เป็นการส่งเสริมการอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวคิดทฤษฏีการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ และตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อให้คนอยู่กับ่าได้อย่างยั่งยืน และพัฒนาศักยภาพชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าสร้างจิตอาสาสร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำ อาสาป้องกันไฟป่า และปลูกในป่า เป็นการสนับสนุนการจ้างงานให้แก่ชุมชนในพื้นที่การปลูกป่า และฟื้นฟูป่าในเขตป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน” นายชัยวุฒิ

สำหรับโครงการ T-VER เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะเลือกพื้นที่สำหรับการปลูกกล้าไม้ที่มีวงปี ซึ่ง อบก. จะพิจารณาขึ้นทะเบียนและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้เป็น “คาร์บอนเครดิต” ใช้รายงานการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรได้

ส่วนโครงการ Premium T-VER จะมีความพิเศษมากขึ้น ตรงที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ การประเมินความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ อาทิ การบริหารโครงการ การเกิดไฟไหม้ป่า แมลง หรืออุบัติภัยต่าง ๆ รวมถึงการขยายตลาดคาร์บอนเครดิตจากในประเทศสู่ต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับแนวทางการดำเนินโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น โดย กฟผ. ได้จ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมปลูกและดูแลบำรุงรักษาป่าตลอดระยะเวลา 10 ปี เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้มั่นใจว่าต้นไม้ที่ปลูกจะอยู่รอดและเติบโตเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์และเลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก. กล่าวว่า ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งขวา ของ กฟผ. ถือว่าเป็นต้นแบบ โครงการ Premium T-VER เป็นมาตรฐานสากลเพื่อลดคาร์บอนประเภทป่าไม้ เพื่อเก็บคาร์บอนแบบธรรมชาติ ซึ่ง อบก. ได้มีการพัฒนาการลดคาร์บอนให้เป็นมาตรฐานสากลสอดรับกับข้อตกลงปารีส ไม่ว่าจะเป็นหลักกาคำนวณ หลักการประเมินความเสี่ยง หลักการที่สอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่สำคัญจะต้องไม่มีผลกระทบต่อชุมชน และสังคมรอบข้างด้วย

“ถ้าโครงการที่ทำลักษณะแบบนี้ และพิสูจน์ว่าได้ทำกิจกรรมส่วนเพิ่มจริงๆ ไม่ใช่ของเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้เพิ่ม การดูแลรักษาเพิ่มเติม หรือการดูแลเอาใจใส่เรื่องดิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล แม้ว่าวิธีแบบใหม่นี้จะทำให้การประเมินทำได้ยากขึ้น แต่การใช้เครดิตแบบนี้จะมีประโยชน์มาก ซึ่งตัวอย่างโครงการของ กฟผ. เป็นหน่วยงานที่ได้ประสานงานกับทางกรมป่าไม้มาทำโครงการแบบประเภทสากลเรียกว่า Premium T-VER ใช้พื้นที่เกือบ 2 พันไร่ มีคุณค่าสูงขึ้น เพราะเป็นคำตอบเดียวที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งคาร์บอนถือว่าเป็นอันตรายและในอนาคตจะมีการค่าจัดเก็บเมื่อมีการปล่อยคาร์บอนออกมา ถ้าหากหน่วยงานไหนมีการเตรียมพร้อมไว้ก่อนก็จะได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ”

ปัจจุบันมีองค์กรยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ Premium T-VER อีก 14 โครงการ โดยโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นโครงการแรกที่ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม การตรวจสอบค่าฐาน (Baseline) และการตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ พร้อมต่อการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ Premium T-VER แห่งแรกของประเทศไทย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button