คมนาคม

บพข. จับมือ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ต่อยอดการส่งเสริมเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งของ พพ.

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จับมือ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย ให้ มข. นำร่อง “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ต่อยอดการส่งเสริมเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งของ พพ. ”

เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการ (Kickoff meeting) “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” โดยมีผู้แทนหน่วยงานจากภาคธุรกิจการขนส่งสินค้า
ที่ดำเนินการร่วมทุนสนับสนุนการวิจัยกับ บพข. คือ คุณวรเทพ สุวจนกร นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และ รองประธานกรรม บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด พร้อมด้วย ศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ หัวหน้าโครงการวิจัย หน่วยงานผู้รับทุนจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมเปิดตัวโครงการ ณ ห้องประชุม หว้ากอ 2 (ฝั่ง สอวช.) อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการต่อยอดการส่งเสริมเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งของ พพ. และภาคการขนส่งสินค้าทางน้ำของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ได้กล่าวถึง “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ในการเปิดตัวของโครงการครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ บพข. ในการทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี
การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าว มุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงาน
ที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม โดยในโครงการนี้ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ได้เป็น “ผู้ให้ทุนร่วม” กับ บพข. ในการจัดสรรทุนวิจัยให้กับคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับระบบโลจิสติกส์ของ
การขนถ่ายสินค้าทางน้ำของประเทศที่ทันสมัยต่อไปได้

โดย ศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ ได้กล่าวว่าโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1) เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางลำน้ำ โดยพัฒนาระบบการขนถ่ายสินค้าเทกองจากการส่งออกและการนำเข้าให้มีประสิทธิภาพที่ใช้ระบบสารสนเทศ Digital platform ที่สามารถทราบอัตราการใช้พลังงานของเครนสำหรับสินค้าแต่ละชนิดได้ถูกต้อง
2) เพื่อพัฒนาต้นแบบซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนการขนส่งและขนถ่ายสินค้าเทกองในการบริหารเรือสินค้าและจัดสรรทุ่น และเครนที่เหมาะสมกับขนาดของเรือและชนิดของสินค้า ที่ทำให้ต้นทุนการขนถ่ายสินค้ามีค่าลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 10
3) เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Database) ในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ (Data analytics and Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system ที่สามารถปรับปรุงข้อมูลตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ให้เป็นปัจจุบัน (Real time) และสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลง
4) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายของโครงการ
ด้าน นายวรเทพ สุวจนกร ได้กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และผู้บริหาร บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านการขนส่งและขนถ่ายสินค้าเทกองจากการนำเข้า/ส่งออกจำนวนมาก โดยมีการให้บริการการขนถ่ายสินค้าบริการแบบครบวงจร ก็ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงานของสมาคมฯ และในธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีความร่วมมือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ในการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อจัดทำแผนการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งในหน่วยงานของบริษัทฯ ดังนั้น การที่ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ บพข. ในการเป็น “ผู้ให้ทุนร่วม” สำหรับโครงการนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในขนถ่ายสินค้าเทกอง และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นปัจจุบัน ด้านการใช้ระบบซอฟต์แวร์ในการจัดลำดับการขนถ่ายสินค้าของเรือ ในการนำเข้า/ส่งออกสินค้าเทกอง และ ด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Database) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการใช้พลังงานขนาดใหญ่ (Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system ที่สามารถปรับปรุงข้อมูลตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ให้เป็นปัจจุบัน (Real time) ซึ่งสามารถเกิดประโยชน์ และเป็นต้นแบบนำร่องให้กับเครือข่ายสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับ นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผอ.กองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พพ. ได้กล่าวถึงความร่วมมือ และการสนับสนุนนโยบาย/มาตรการในการอนุรักษ์พลังงานในภาคการขนส่งของ พพ. ต่อโครงการนี้ว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจด้านการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาพลังงาน และพยายามผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน ซึ่งภาคการขนส่ง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการขนส่งสินค้า และการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งการประสานความร่วมมือระหว่าง พพ. กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจว่าด้วย “ความร่วมมือในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง” ก็เพื่อเป็นการสงเสริมองคกร หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้มีการดำเนินการอนุรักษพลังงานในภาคขนส่งร่วมกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่ง/โรงงาน และหน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งผู้ใช้พลังงานขนาดใหญ่ มีแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานด้านการขนส่งของหน่วยงานตนเอง และสามารถใช้ในการกำกับดูแลควบคุมให้หน่วยงานมีการจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตได้

และจากการที่ บริษัท เอส.พี. อินเตอร์มารีน จำกัด ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งร่วมกับ บพข. ภายใต้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาข้อมูลการวิจัยจากคณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ไปประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในการขนถ่ายสินค้าเทกอง และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นปัจจุบัน (Real time) ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ของโครงการให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ก็จะสามารถสนับสนุนแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงส่งเสริมแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งให้เป็นรูปธรรมได้

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ได้กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงาน “โครงการบริหารจัดการระบบ
โลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ว่า จะเป็นต้นแบบนำร่อง เพื่อการขยายผล และต่อยอดการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางลำน้ำ ด้วยระบบสารสนเทศ Digital platform ซึ่งมีต้นแบบซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนการขนส่งและขนถ่ายสินค้าเทกองในการบริหารเรือสินค้าและจัดสรรทุ่น และเครนที่เหมาะสมกับขนาดของเรือและชนิดของสินค้า และระบบฐานข้อมูล (Database) ในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ (Data analytics and Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งสินค้าทางน้ำให้กับผู้ประกอบการต่อไปได้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button