บทความ

หยุด ! แนวคิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย รัฐบาลแห่งชาติ ก่อวิกฤติประชาธิปไตย สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุน

เตือนปัญหาหนี้และสภาพคล่องปะทุจากดอกเบี้ยขาขึ้น ภาระผ่อนชำระสูงขึ้น อาจเกิดปัญหาเงินตึง
ความล่าช้าในการรับรองผลเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลซ้ำเติมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสเดินหน้าแก้สัมปทาน จัดการปัญหาส่วยติดสินบน ยกระดับขีดความสามารถ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ขอให้กลุ่มการเมืองที่มีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยยกเลิกแนวคิดดังกล่าวเสีย สมาชิกวุฒิสภาและพรรคการเมืองต่างๆ ควรเคารพเสียงของประเทศส่วนใหญ่มากกว่า 70% ในการเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และ เดินตามเจตนารมณ์ของประชาชน และ ไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพียงเครือข่ายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยหยุดปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังด้วยการบิดเบือนความจริง ใช้ปฏิบัติการข่าวสารหรือ IO ในการสร้างข่าวเท็จเรื่อง ฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยก็ดี กล่าวอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองก็ดี การกระทำดังกล่าวเป็นการสมคบกันเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง การกระทำเหล่านี้จะทำให้เกิดวิกฤติประชาธิปไตย นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ ขอให้เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยเหล่านี้ตระหนักถึงเสียงของประชาชน ประชาชนจำนวนมากยอมอดทนและเดือดร้อนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร คสช (พ.ศ. 2557-2562) และ ระบอบสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งอันบิดเบี้ยว (พ.ศ. 2562-2566) มาเกือบ 9 ปีแล้ว ประชาชนรอคอยให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ ทวงคืนประชาธิปไตยผ่านคูหาเลือกตั้ง แนวทางนี้จะทำให้ระบบการเมืองไทยยกระดับขึ้น ก้าวหน้าขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น หากพวกท่าน (เครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย) กลัวอย่างไร้เหตุผลว่า รัฐบาลใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยจะก่อปัญหาในการบริหารประเทศ พวกท่านก็ยังมีสมาชิกวุฒิสภาและองค์กรอิสระทั้งหลายที่พวกท่านแต่งตั้งตรวจสอบถ่วงดุลและกำกับการทำงานของรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยได้

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส. ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ในรัฐสภา หากมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติก็จะไม่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ในรัฐสภา ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน หากพวกท่านเห็นว่า แนวคิดแบบจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่งเหมาะสมกับโลกในทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 ท่านก็สามารถเสนอตัวแข่งขันในการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าได้ เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง บ้านเมืองจะได้สงบ มั่นคง มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยจะได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชนและสร้างโอกาสดีๆให้กับประเทศชาติของเราต่อไปได้

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ดี รัฐบาลแห่งชาติก็ดี การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมผ่าน กกต. ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ขอเตือนว่า อย่าคิดที่จะทำเช่นนั้นเป็นอันขาด เพราะพวกท่านจะต้องเผชิญหน้ากับพลังการประท้วงของมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วอาจนำไปสู่อนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ของเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย และกรุณาอย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารแบบปี พ.ศ. 2557 อีก เพราะคราวนี้ประชาชนจะไม่ยอม รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 และ การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. และ สร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจของระบอบคณาธิปไตย มากกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่แพร่ขยายด้วยพลังของสื่อสังคมออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ เมื่อประชาชนได้ร่วมกันทวงคืนประชาธิปไตยจนสำเร็จในการเลือกตั้งปีนี้แล้ว ประชาชนยังต้องมีภารกิจในการปกป้องประชาธิปไตยจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยจะเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้เกิดการปล้นชัยชนะของประชาชนด้วยอภินิหารทางกฎหมาย หรือ การละเมิดต่อหลักความถูกต้องเป็นธรรมและหลักนิติธรรมขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ การเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยในอนาคตด้วยการใช้รถถัง หรืออาวุธมายึดอำนาจมีความเสี่ยงน้อยลง แต่จะมีการใช้สงครามปฏิบัติการข่าวสาร หรือไอโอ เพื่อทำลายรัฐบาลประชาธิปไตยแทน ปฏิบัติการข่าวสารบิดเบือน ไอโอของข่าวลวงข่าวเท็จพวกนี้จะพุ่งเป้าทำลายไปที่นโยบายของพรรคการเมือง สถาบันพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งหลาย การปฏิบัติการข่าวสารบางส่วนจะใช้ข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริง เพื่อทำลายภาพลักษณ์นักการเมืองให้เสียหายจนประชาชนสิ้นศรัทธา หรือ การปลุกปั่นความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัด หรือ แอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติในการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างสุดโต่ง ทำลายบรรยากาศของความเห็นต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผล ปฏิบัติการไอโอของเครือข่ายจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่งแอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติเหล่านี้มีการทำงานอย่างเป็นระบบจนกระทั่งพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน หากรัฐบาลขั้วเสรีประชาธิปไตยไม่แก้ปัญหาอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนสร้างความเกลียดชังอาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและความสันติสุขของสังคมได้

สิ่งที่ควรเกิดขึ้น คือ การถ่ายโอนอำนาจและการทำงานอย่างสันติระหว่างรัฐบาลเก่าและรัฐบาลใหม่อย่างเป็นระบบ อย่างเป็นมิตรในฐานะเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนจะได้ราบรื่น และ สานงานต่อเพื่อประเทศชาติจะได้ไม่สะดุด

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะทำให้เกิดความล่าช้าในการประกาศใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2567 อยู่บ้าง แต่สามารถเร่งเบิกจ่ายในช่วงต้นปี 2567 ได้ แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวล คือ หากเกิดวิกฤติประชาธิปไตยขึ้นจากเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย จะเกิดความเสี่ยงขึ้นอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุน ใครสร้างปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายต่างๆทางเศรษฐกิจ และความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้ง การสูญเสียโอกาสของประเทศ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งควรจะมากกว่า 4% ก็อาจจะลดลงต่ำกว่า 2% ได้ ภาคการลงทุนก็ชะงักงันและชะลอตัวทั้งหมด ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจนั้นก็หนักหนาอยู่แล้วในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องและเงินตึงตัวมากขึ้น ความล่าช้าในการรับรองผลเลือกตั้ง การถ่วงเวลาการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยซ้ำเติมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส ปัญหาหนี้เสียภาคครัวเรือนและหนี้เสียของเอสเอ็มอีอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากหากประเทศเกิดปัญหาวิกฤติการจัดตั้งรัฐบาล ขณะนี้ มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณ 12-15% ของสินเชื่อรวม มากกว่า 1 ล้านบัญชี

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ระดับ 2% ของแบงก์ชาติ ดอกเบี้ยทั้งระบบในตลาดการเงินจะปรับเพิ่มขึ้นตามแบงก์ขนาดใหญ่และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มได้อีก 0.50-0.75% ขึ้นไปสู่ระดับ 2.50-2.75% ในช่วงปลายปี เงินบาทจะทยอยแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสามจากการขยับดอกเบี้ยเพิ่มเติมและเงินทุนไหลเข้า ดุลการค้าเกินดุล (หากไม่มีวิกฤติในการจัดตั้งรัฐบาล) รัฐบาลใหม่ต้องติดตามแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างจริงจัง ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทำให้กำไรธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น แต่ลูกหนี้บางส่วนอาจประสบปัญหาสภาพคล่องจากยอดชำระต่องวดเพิ่มขึ้น การขอกู้ยืมเงินต่อ หรือ Rollover หนี้สินของเอสเอ็มอี และ กิจการอสังหาริมทรัพย์มีความยากลำบากมากขึ้น อาจเกิดภาวะเงินตึงตัว (Tight Money) ได้ คือ มีปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดการเงินน้อยกว่าความต้องการกู้ยืมเงิน ทำให้การขยายตัวของการลงทุนและการผลิตลดต่ำลงได้จากภาวะเงินตึงตัว การปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องหาจุดสมดุลไม่หนักมือเกินไป อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลโดยภาพรวมขณะนี้ยังถือว่าบริหารจัดการได้เพราะตอนวิกฤติปี 2540 เอ็นพีแอลเคยพุ่งแตะระดับ 52% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้เวลานี้ ระบบธนาคารของไทยมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio เกือบ 20% ฉะนั้นวิกฤติภาคการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะมาจากกลุ่ม Non-Bank กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ มากกว่า โดยเฉพาะ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานระดับล่างยังมีความเปราะบางจากผลกระทบจากโควิดอยู่ ไม่ควรกระทบจากวิกฤติการเมืองซ้ำเติมอีก มีรายได้ไม่พอรายจ่าย
80% ของกลุ่มนี้มีปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่าย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีปัญหาหนี้นอกระบบด้วย ผู้มีภาระผ่อนบ้านได้รับผลกระทบมาก หากขึ้นดอกเบี้ย 25 สตางค์ กระทบการผ่อนต่องวดเพิ่ม 1.5% หากปรับเพิ่ม 1% จะกระทบภาระผ่อนต่องวดอย่างต่ำ 6% ในกลุ่มข้าราชการนั้น ข้าราชการครูมีหนี้สินสูงสุดส่วนใหญ่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารออมสิน ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านล้านบาท 80% ของครูที่เป็นหนี้มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายค่อนข้างมาก

อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เสนอว่า ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบดีขึ้น การปรับค่าจ้าง และการเสริมทักษะทางการเงินจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินได้ การกดค่าแรงไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง เพื่อนร่วมชาติผู้ใช้แรงงานต้องได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนแรกเข้าสูงขึ้นเป็นนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน บรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ต้องมีมาตรการเชิงรุกอื่นๆเพิ่มเติมจึงสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินและปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื้อรังที่ต้นตอได้ การเติบโตด้วยการขับเคลื่อนจากฐานทรัพยากร และ ฐานแรงงานราคาถูกนั้นได้มาถึงขีดจำกัดอย่างชัดเจนและพ้นยุคสมัยไปแล้ว ภาคการผลิตของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถอาศัยแรงงานทักษะต่ำราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆโดยไม่คิดยกระดับทักษะแรงงานเหล่านี้ เราควรปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวอย่างมีมาตรฐานและสิ่งนี้เป็นการแสดงความมีศิวิไลซ์ของสังคมไทย

รศ. ดร. อนุสรณ์ เปิดเผยต่อว่า ประเทศไทยมีปัญหาส่วยติดสินบนเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ มีการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในกิจการพลังงาน กิจการพลังงาน กิจการขนส่งคมนาคม กิจการโทรคมนาคม ผ่านระบบสัมปทานมาโดยตลอดและปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้นในระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจควบแน่นมากขึ้น ตนเชื่อว่า ปัญหาเหล่านี้จะบรรเทาลงในยุครัฐบาลประชาธิปไตย การดำเนินการปฏิรูปประเทศด้วยการลดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ลดระบบส่วยติดสินบน จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ภาคธุรกิจมีต้นทุนต่ำลงมาก ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมและทำให้ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ระบบส่วยและการติดสินบนจะได้รับการแก้ไขหากรัฐบาลใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยใช้ระบบ Open Data และ ระบบ Open Government มาสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ ระบบส่วย การจ่ายสินบน และ การแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เคยทำกันอย่างแพร่หลายและเปิดเผย จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมทำให้ประชาชน และภาคธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลางต้องจำยอมรับสภาพความไม่เป็นธรรมและการถูกขูดรีดจนเป็นปรกติ จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับและทำไม่ได้ในสังคมไทยอีกต่อไป

แน่นอนว่าการสะสางปัญหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) นี้เป็นผลตอบแทนส่วนเกินที่เกิดจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐบนต้นทุนของประชาชน และ ยังก่อให้เกิดการสูญเสียประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจอย่างมาก บางเรื่องอาจต้องอาศัยกฎหมายพิเศษเนื่องจากสัญญาสัมปทานจำนวนหนึ่งมีการเขียนสัญญาไม่เป็นธรรมต่อรัฐไว้อย่างรัดกุม และ เป็นการสมยอมจากผู้มีอำนาจรัฐในแต่ละยุคในการร่วมกันปล้นชิงผลประโยชน์สาธารณะไปให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่บางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมีขีดจำกัด ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงอีก รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวต่ำลง นอกจากนี้ ยังเป็นมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันมหาศาลและผูกพันระยะยาว ทุจริตเชิงนโยบายกระทำโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองแตกต่างจากการทำทุจริตแบบจัดซื้อจัดจ้างจากเงินงบประมาณซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยข้าราชการ ปัญหาเหล่านี้ผูกโยงกับ Money Politics หรือ ระบอบธนาธิปไตยที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และ มักเป็นข้ออ้างต่อการยึดอำนาจรัฐประหารเสมอมาตลอดระยะเวลา 91 ปีหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button