การเกษตร

เห็นชอบพิมพ์เขียวเร่งดันไทยสู่ฮับฮาลาลโลก ปี 2570

“เฉลิมชัย”เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลก เห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า “1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง”บุกตลาด2พันล้านคน ดึง ”สคช.”ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล จับมือ ”ศอบต.” ขับเคลื่อน 3 โครงการอุตสาหกรรมฮาลาลภาคใต้พร้อมขยายบทบาทไทยในเวทีโลกผนึกองค์การความร่วมมือกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) จัดงานฮาลาลนานาชาติเดือนมิถุนายน

วันนี้ (21 เม.ย. 64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสาคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน และเป็นอันดับ 12 ของโลก และภายใต้ ”5ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้วิกฤติการณ์โควิด 19 ในการเป็นประเทศผู้นาในการผลิตและส่งออก สินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาค

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 2/2564 ได้ให้ความเห็นชอบเนื้อหาร่างวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย อนุกรรมการจัดทำวัสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่ (1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (2) สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (4) เพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์ (5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ

ทั้งนี้ ร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญ ผ่านการดำเนินกิจกรรม และโครงการที่กำหนดในแผนปฏิบัติการโดยร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่และโคครบวงจรที่จังหวัดยะลา 2 โครงการมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการหลายร้อยรายในพื้นที่โครงการละกว่า 3,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโครงการอุตสากรรมไก่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการทำงานบนความร่วมมือกับศอบต. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นฮับของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลตามเป้าหมายที่วางไว้

“ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เพื่อขยายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางและภาคตะวันออกโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่าน เช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก เป็นต้น ส่วนภาคใต้มีอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้รับผิดชอบอยู่แล้วโดยเร่งขับเคลื่อนโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรม”ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์AIC เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปอาเซียน เอเซียตะวันออก เอเซียใต้เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง อัฟริกา ยุโรปและอเมริกา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เชิญนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ จากสำนักงานมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในยุคเกษตร 4.0 ผ่านการเสริมสร้างความรู้ และทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้กำหนด ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาหารฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนา และมาตรฐานสากล อีกทั้งยังได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาหารฮาลาลของไทย โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำความร่วมมือร่วมกับสถาบันฯ ในด้านการขยายผลสาขาอาชีพที่กำหนดมาตรฐานเสร็จแล้ว การจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ การให้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมในสาขาที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะอาชีพที่ปรึกษาธุรกิจด้านฮาลาล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลไทย

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทางด้านรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร. ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยรายงานความคืบหน้างานสมัชชาฮาลาลไทยแลนด์ 2021 (Thailand Halal Assembly 2021 )ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ video conference ภายใต้ธีม A Virtual Way for Actual Halal World ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายต่ออุตสาหกรรมฮาลาล และการรับรองฮาลาลในยุคหลัง COVID-19 โดยงาน Thailand Halal Assembly 2021 จะมีสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือประเทศอิสลาม (OIC) และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

ภายในงานจะประกอบไปด้วยการประชุมวิชาการด้านฮาลาล และการจัดแสดงสินค้าฮาลาล รวมกว่า 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
1. การประชุมนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล2021 (The International Halal Science and Technology Conference 2021 )
2. การประชุมนานาชาติฮาลาลว่าด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจครั้งที่14(The 14th Halal Science, Industry and Business Virtual Conference )
3. การประชุมว่าด้วยการรับรองและมาตรฐานฮาลาลนานาชาติ( The International Halal Standards and Certification Convention )
4. งานนานาชาติไทยแลนด์ฮาลาลเอ็กซ์โป(Thailand International Halal Expo 2021 Virtual Expo)

“นับเป็นการขยายบทบาทของไทยในเวทีโลกครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งโดยเฉพาะการแสดงถึงมาตรฐานฮาลาลไทยและการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล”

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ทำหน้าที่ประธานการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อานวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย ความร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบฮาลาล ผลการดำเนินงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ในปี พ.ศ. 2563 และ ปี 2564
พร้อมรับทราบรายงานการดำเนินงานของ
คณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งการรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button