คมนาคม

จุดชวนวิกฤติจราจรทางเข้า “สนามบินสุวรรณภูมิ” อีก 10 ปี หากปรับแนวใช้เกาะกลางมอเตอร์เวย์ก่อสร้างทางด่วนสาย “ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ”

กทพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นทางด่วนสาย “ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ” กางแผนก่อสร้างเสนอ ครม.ไฟเขียวปี 68 เดินหน้าเปิดประมูลปี 69 เพื่อคลี่คลายปัญหาจราจร ขณะที่ สจล. กังวลด้านทัศนียภาพและจุดขึ้นลงทางด่วนช่วงก่อสร้างทำให้เกิดปัญหาจราจร สอดคล้องกับชุมชนเสนอใช้เกาะกลางมอเตอร์เวย์เพื่อลดผลกระทบชุมชน ด้านที่ปรึกษาฯ ชี้หากปรับแนวก่อสร้างใหม่อาจทำให้เกิดวิกฤติจราจรไปอีก 10 ปีจนกว่าจะก่อสร้างแลัวเสร็จในปี 73 เผยระทึกปี 67 สนามบินสุวรรณภูมิเปิดรันเวย์ 3 รับปริมาณนักท่องเที่ยวพุ่ง

วันนี้ (11 ต.ค.66) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโครงการ ความเป็นมาเหตุผลความจำเป็นของการพัฒนาโครงการ ตลอดจนแนวทางการศึกษาและขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญรวมทั้งนำเสนอแนวเส้นทางของโครงการพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน ณ ห้องประชุม JW Convention Hall เขตสวนหลวงกรุงเทพมหานคร

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ประธานในพิธีเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ได้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงและมีขอบเขตความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. ระบุให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนิน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น

“หลังจากได้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเสร็จทั้งหมด 5 ครั้งก็จะดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2567 หลังจากนั้นก็จะดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กับดำเนินการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ในปี 2568  จากนั้นจะดำเนินการประกวดราคาในปี 2569 ตคามแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2573”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดิมทีเป็นโครงการอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ทล. และได้มีการโอนให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 โดยจากที่ทล. เคยดำเนินการศึกษาในเบื้องต้นมีกรอบวงเงินลงทุน 29,500 ล้านบาท โครงการมีระยะทาง 18 กิโลเมตร โดยการดำเนินการศึกษาของ กทพ. จะพยายามออกแบบให้มีกรอบวงเงินลงทุนลดลงจากที่กรมทางหลวงศึกษาไว้ ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นต้องดำเนินการศึกษาออกแบบให้แล้วเสร็จก่อนถึงจะบอกได้ว่าจะเป็นรูปแบบใดระหว่างการลงทุนเอง หรือเปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมลงทุน

สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น“กทพ. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อาทิ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างอย่างชัดเจน การกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่แน่นอน ไม่ยืดเยื้อ การกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน เป็นต้น” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีความเป็นห่วงเรื่องทัศนียภาพ และการขึ้นลงของเส้นทางนี้จะส่งผลกระทบทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากทางขึ้นลงอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนลาดกระบัง ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ต้องหาข้อสรุปก่อนกทพ. ถึงจะดำเนินการศึกษาออกแบบต่อไป

เช่นเดียวกับทางชุมชนย่านลาดกระบังมีความเป็นห่วงเรื่องแนวเขตทางที่จะมีการก่อสร้างบริเวณด้านข้างของของมอเตอร์เวย์อาจจะกระทบกับบ้านเรือนของประชาชน และมีปัญหาการจราจรช่วงก่อสร้าง จึงเสนอให้ปรับแนวเขตทางเป็นบริเวณเกาะกลางของมอเตอร์เวย์แทน

ด้านนายนครินทร์ ลัทธรรมนุวงศ์ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเป็นประชาชนว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นประโยชน์มาก และได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนจากรอบด้าน ซึ่งทางบริษัทที่ปรึกษาฯ จะได้นำไปพิจารณาปรับแนวเขตทางให้มีความเหมาะสมและกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุดก่อนที่จะมีการออกแบบต่อไป

“ที่ผ่านมาโครงการนี้ล่าช้ามากทำให้ประเทศได้รับความเสียทางทางด้านเศรษฐกิจมากการปัญหาจราจรติดขัด  โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งการก่อสร้างทางด่วนเส้นนี้จะทำให้การเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิรวดเร็วขึ้น โดยในปี 2567 จะมีการเปิดรันเวย์ที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีปริมาณรถเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงค์แล้วก็ตาม และถ้าหากมีการก่อสร้างบริเวณเกาะกลางของเส้นทางมอเตอร์เวย์ก็จะทำให้ช่องทางจราจรหายไป  1 ช่องทาง ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดหนักขึ้นจนกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 อย่างไรก็ตาม ทางที่ปรึกษาโครงการฯ จะนำข้อเสนอไปพิจารณา และหารือกับกรมทางหลวงถึงทางเลือกเพื่อใช้เกาะกลางมอเตอร์เวย์ต่อไป”

ทั้งนี้ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางสูงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้า ช่วงตั้งแต่บริเวณทางแยกถนนศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม  ได้มีนโยบายให้ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารจัดการแบบ Single Command

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button