สังคมไทยมุง

“เกษตรฯ” รับลูกสางปัญหาด่วนเนื้อวัวปลอมระบาด

“เกษตรฯ” ชูธงนโยบายเกษตร-อาหารปลอดภัยของรัฐมนตรี”เฉลิมชัย”ระดมพล 10 พันธมิตรลุย 5 มาตรการแก้ปัญหาเนื้อวัวปลอมระบาดหวั่นกระทบผู้บริโภคอาหารฮาลาลทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออกอาหารกลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน

วันนี้ (1 ส.ค. 63) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลเปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมได้มาพบหารือเมื่อวันที่ 29 ก.ค. เกี่ยวกับปัญหาการระบาดของเนื้อวัวเทียมที่ใช้เนื้อหมูหมักเลือดวัวในกรุงเทพและต่างจังหวัด จึงได้เชิญ 10 หน่วยงานประกอบด้วยผู้แทนกรมปศุสัตว์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานอาหารและยา นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ อ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.ต ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.คบ) ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ดร.วินัย ดะห์ลัน ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมและคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมหารือเป็นการเร่งด่วนในวันรุ่งขึ้นทันทีเนื่องจากปัญหาดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและพี่น้องมุสลิมในวงกว้างมากขึ้นเพราะนอกจากมีการขายตามเขียงและรถเร่ยังมีการขายออนไลน์กระจายไปทั่ว ซึ่งตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามฯและสถาบันมาตรฐานฮาลาลรวมทั้งสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมแสดงความกังวลว่า ปัญหาเนื้อวัวปลอมที่ทำจากสุกรกระทบพี่น้องมุสลิมโดยตรงและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในมาตรฐานฮาลาลโดยเฉพาะผู้ประกอบการกว่า 150,000 รายที่ได้มาตรฐานฮาลาลอละถ้าไม่จัดการโดยเฉียบขาดเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน รวมทั้งชาวมุสลิมที่เดินทางมาท่องเที่ยวหรือมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยเพราะกลัวอาหารที่ปลอมปนเนื้อสุกร

โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานว่า มีการส่งตัวอย่างมาให้วิเคราะห์ 42 ตัวอย่างทั้งที่เป็นเนื้อสดและปรุงเป็นอาหารปนเนื้อวัวปลอมขายในโรงเรียน ผลปรากฎว่าเป็นเนื้อวัวปลอมที่ทำจากเนื้อหมูหมักเลือดวัว 70% ส่วนตัวอย่างที่ขายผ่านออนไลน์เป็นเนื้อวัวปลอม 100% และมีเชื้อโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค

ในส่วนกรมปศุสัตว์ร่วมกับบก.คบ. รายงานว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคมได้จับกุมหลายรายในจังหวัดปราจีนบุรีและกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีเครื่องมือเพียงพอในการจัดการกับการค้าออนไลน์ ซึ่งดีเอสไอ. สคบ. และอย. ยินดีที่จะบูรณาการการทำงานกับบก.คบและกรมปศุสัตว์โดยใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับมาใช้ในการจัดการปัญหานี้ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดสัตว์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ. ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่าย และ พ.ร.บ. อาหารและยา ฯลฯ

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยและนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารรวมทั้งอาหารฮาลาลเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกอาหารที่ปลอดภัย ในปัจจุบันไทยส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรกว่า1ล้านล้านบาทเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเซียรองจากจีนเท่านั้นส่วนตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่า 1 แสนล้านบาทเป็นตลาดเป้าหมายใหม่ที่เติบโตเร็ว จึงมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรมาตรฐานฮาลาลเป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องจัดการปัญหาเนื้อวัวปลอมจากเนื้อสุกรอย่างเป็นระบบและเร่งด่วนและยังเป็นการสร้างความเขื่อมั่นว่ารัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและหน่วยงานพันธมิตรมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาทั้งวันนี้และวันหน้า ทั้งนี้ที่ประชุมสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเริ่มเดินหน้า 5 มาตรการเร่งด่วน

1. มาตรการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค
2. มาตรการป้องปรามผู้ค้า
3. มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิด
4. มาตรการส่งเสริมมาตรฐานฮาลาล
5. มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ(Tracebility)จากโรงฆ่าสัตว์ถึงผู้บริโภคสร้างความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติการของส่วนราชการครั้งนี้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button