คมนาคม

ศึกษาความเหมาะสมตั้งสนามบินนครปฐม

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน มอบหมายให้ นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายอาทิตย์ วินิจสร ผู้อำนวยการกองก่อสร้างและบำรุงรักษา และคณะทำงานกรมท่าอากาศยาน ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม โดยมี นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ณ อาคารหอประชุม วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม

การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เพื่อศึกษาข้อมูลความต้องการของการใช้ท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินพาณิชย์ การบินเชิงธุรกิจ และการบินทั่วไป ตลอดจนศึกษาความเหมาะสมการมีท่าอากาศยานเพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมถึงสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้างท่าอากาศยาน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ และศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการด้วย

โดยกรมท่าอากาศยานได้ว่าจ้างบริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแทนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสะดวกในการเดินทาง เนื่องจากมีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญ ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) โครงการวงแหวนถนนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (M91) โครงการมอเตอร์เวย์สายชลบุรี – สระบุรี – นครปฐม (M92) โดยมีเกณฑ์หลักในการพิจารณา ประกอบด้วย ความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงโครงข่ายคมนาคม ความเหมาะสมทางวิศวกรรม ลักษณะพื้นที่ ภูมิประเทศ สิ่งกีดขวาง เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ การใช้งานห้วงอากาศยานร่วมกับท่าอากาศยานโดยรอบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่และบริเวณโดยรอบ

กรมท่าอากาศยานเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมของประเทศ และได้เห็นถึงความสำคัญของการมีท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อบรรเทาความคับคั่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองรวมถึงเพื่อรองรับความต้องการด้านการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้น จึงได้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดตั้งสนามบิน ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นฯ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความชัดเจนในการเลือกพื้นที่ที่จะดำเนินการ ข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละพื้นที่ทางเลือก ความเหมาะสมในการใช้ห้วงอากาศในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งขอให้มีการนำพื้นที่ของสนามบินกำแพงแสน ไปเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางเลือกด้วย เป็นต้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button