พลังงาน

เปิดแผน “เอ็กโก กรุ๊ป” เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่ Net Zero ปี 2050

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก กรุ๊ป” เป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศไทย ที่มีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมากถึง 1,364 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด 6,969 เมกะวัตต์ ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยกระจายการลงทุนโรงไฟฟ้าและโครงการอื่น ๆ ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ถือว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ในประเทศไทยที่ออกมาประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดใหม่ ๆ  ด้วยการจับมือกับพันธมิตรหลากหลายแห่ง ตลอดจนร่วมลงทุนกับกลุ่ม กฟผ. ก่อตั้งบริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมพลังงาน “อินโนพาวเวอร์”

นี่เป็นความคืบหน้าของเอ็กโก กรุ๊ป ในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ พร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งทางกองบรรณาธิการ นิตยสาร Energy Transition mag ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เพื่อบอกเล่าภารกิจในการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ไว้อย่างน่าสนใจ

 “นายเทพรัตน์” กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน รวมถึงเอ็กโก กรุ๊ป ต้องเผชิญความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Transition) ที่มีแรงกดดันจากปัจจัย 4D+1E ได้แก่ Digitalization การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วกว่าในอดีต ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องตื่นตัวในการศึกษา ลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ Decarbonization การส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ดังกล่าว เช่น การเพิ่มกำลังผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การตั้งเป้าหมายไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น  Decentralization การกระจายศูนย์ของแหล่งผลิตพลังงาน ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานจึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป Deregulation การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ทำให้ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวกับกฎระเบียบใหม่อยู่เสมอ และ Electrification ความนิยมใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

“เพื่อเป็นการรับมือและการเติบโตไปพร้อมกับความท้าทายทั้ง 5 ด้าน เอ็กโก กรุ๊ป จึงขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth” พร้อมประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นครั้งแรกในปี 2021 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2030 คือ การลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และเป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2050 คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป เล็งเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ไฮโดรเจน ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำมีความเป็นไปได้มากขึ้นและมีแนวโน้มรวดเร็วมากขึ้น

“เอ็กโก กรุ๊ป ได้ทบทวนเส้นทางการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และประกาศเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายและเข้มข้นมากขึ้น  โดยขยับเป้าหมาย Carbon Neutral ให้เร็วขึ้นจากเดิม 10 ปี เป็นปี 2040 และเพิ่มเป้าหมายใหม่ คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เพื่อร่วมผลักดันอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานในการช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”

เป้าหมายปัจจุบันของเอ็กโก กรุ๊ป ในการขับเคลื่อนองค์กรมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2030 ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (CarEmissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30%
  • เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2040 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
  • เป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2050 บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“นายเทพรัตน์” อธิบายถึงแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่ 3 เป้าหมายข้างต้นว่า เอ็กโก กรุ๊ป จะไม่ลงทุนเพิ่มในธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ (No New Coal Investment) และจะปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีการนำไฮโดรเจน หรือแอมโมเนียมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า (Hydrogen or Ammonia co-firing) ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) หรือเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) มาใช้กับโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโก

“ความสำเร็จที่เป็นรูปรรมของเอ็กโก กรุ๊ป ในปีนี้ คือการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสม “ลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6” กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ ที่เมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา โดยได้ปรับปรุงเครื่องกังหันก๊าซให้สามารถรองรับก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเบย์เวย์ของบริษัท ฟิลิปส์ 66 ที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติได้ โดยการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้า “ลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6” ในภาพรวมลงประมาณ 10% จากระดับปกติ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก ให้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงได้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต”

ด้านการลงทุน “นายเทพรัตน์” กล่าวว่า ทางเอ็กโก กรุ๊ป ได้ตั้งงบลงทุนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2021-2025 วงเงิน 150,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้วปีละ 30,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งประเภทเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงธุรกิจที่พลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)

สำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมาย คือ อาเซียน ที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว รวมถึงประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและมีโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมาก

ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2023 เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส
อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มาร์คัส ฮุก 912 เมกะวัตต์ มิลฟอร์ด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน 187 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ

การลงทุนใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังมุ่งขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มจะลงทุนพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการถือหุ้น 17.46% ใน “เอเพ็กซ์” (Apex) ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่ใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนโครงการอยู่ใน Pipeline มากถึง 242 โครงการ กำลังผลิตรวม 53,767  เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่อีกเล็กน้อย  โดยเอเพ็กซ์ได้รับประโยชน์จากกฎหมาย Inflation Reduction Act ของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ

โมเดลธุรกิจของเอเพ็กซ์เป็นแบบไฮบริด คือ พัฒนาโครงการเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เองบางส่วน และจำหน่ายโครงการออกไปบางส่วน ทำให้แนวทางการดำเนินธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป เปลี่ยนจาก “ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้า” เพียงอย่างเดียว เป็น “ผลิตโรงไฟฟ้าและขายโรงไฟฟ้า” ด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเอ็กโก กรุ๊ป ในระยะยาว เนื่องจากการพัฒนาโครงการของเอเพ็กซ์สามารถทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังจะทยอยหมดอายุสัญญาและสร้างการเติบโตใหม่ให้เอ็กโก กรุ๊ป ไปพร้อมกัน

ในปี 2023 เอเพ็กซ์ มีโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 657 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จระหว่างปี 2023-2025  แบ่งเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ ในรัฐเท็กซัส โครงการพลังงานลม 1 โครงการ ในรัฐเมน และโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 2 โครงการ ในรัฐเท็กซัส

ในยุคการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน “นายเทพรัตน์” กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ป ยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยเชื่อมั่นว่าเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญและมีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว รวมถึงมุ่งมั่นผลักดันการใช้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่สะอาดขึ้นและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายแห่งศึกษาเทคโนโลยีและแสวงหาโอกาสลงทุนในซัพพลายเชนไฮโดรเจน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะในประเทศซาอุดิอาระเบีย และออสเตรเลียที่มีศักยภาพสูง

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ร่วมกับ กฟผ. และ ราช กรุ๊ป ลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ผ่าน “บริษัท อินโนพาวเวอร์ จํากัด” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยการนํานวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ามาต่อยอดเชิงธุรกิจ ผ่าน 3 แกนหลักการลงทุน ได้แก่

  • Venture Capital ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมพลังงานและความยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • Venture Builder แสวงหานวัตกรรมจากทั่วโลกมาสู่สังคมไทยและจุดประกายให้เกิดทางเลือกใหม่ในธุรกิจพลังงาน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด
  • Strategic Partnership ให้ความสำคัญกับการแสวงหาความร่วมมือในตลาดธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสู่สังคมไทย ในขอบเขตของการร่วมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Future Mobility Future of Energy Network และโครงการที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั่นเอง

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button