ประกันภัย

“กองทุนประกันชีวิต” ทำโรดแม็พจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต” ระยะ 5 ปี วางกรอบ 4 ยุทธศาสตร์สอดรับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ

กองทุนประกันชีวิตร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น “การจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570)” เมื่อวันที่  9 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์

การกำหนดแผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ ประสบผลสำเร็จในระยะยาว ดังเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกองทุนฯ และปฏิบัติตาม พันธกิจในสถานการณ์ปัจจุบันให้ก้าวหน้า และพัฒนาสู่การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือวิสัยทัศน์นั้น จึงต้องอาศัยแนวทางที่มุ่งเน้นสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ คือ “ประเด็นยุทธศาสตร์” อันเสมือน “แผนที่นำทาง” (Roadmap) สู่เป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

“กองทุนประกันชีวิต” จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “ร่างแผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570)” ขึ้น เพื่อให้กองทุนประกันชีวิตมีทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ให้มีความชัดเจนภายใต้ความสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกของกองทุนประกันชีวิต (SWOT Analysis) ภายใต้ภาวการณ์ปัจจุบัน โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารกองทุน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมประกันชีวิต จนได้ร่าง 4 แผนยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัย ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยให้ประชาชนและภาคเอกชน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัยเพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยและรูปแบบในการกำกับดูแลที่รองรับการดำเนินธุรกิจประกันภัย

การรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์กองทุนประกันชีวิต ระยะ 5 ปีข้างหน้าหรือปี พ.ศ. 2566-2570 นี้ ได้รับความคิดเห็นอันเป็นภาพสะท้อน (Feedback) จากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียกับกองทุนฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากผู้ประกอบการและประชาชน ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมประกันชีวิต ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กองทุนประกันชีวิต

 สำหรับกองทุนประกันชีวิต จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 (ปรับปรุง พ.ศ. 2551) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หรือกว่า 14 ปีมาแล้ว มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิต ซึ่งมีปลัดกระทรวง การคลังเป็นประธาน และรองเลขาธิการ คปภ. เป็นรองประธาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้เอาประกันภัย (เจ้าหนี้) ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย กรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต ให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

วิสัยทัศน์/พันธกิจ กองทุนประกันชีวิตได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “กองทุนประกันชีวิต เป็นที่พึ่ง ของผู้เอาประกันภัย พัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ” ด้วยจุดมุ่งหมาย ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนตาม พรบ. ดังกล่าว ด้วยพันธกิจ 4 ประการ ดังนี้

1. บริหารเงินกองทุน และเร่งรัดการคืนเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ล่วงพ้นอายุความ (ที่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์) ให้แก่ประชาชนอย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงาน

2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของกองทุนประกันชีวิตให้มีการใช้ปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีส่วนขับเคลื่อนในการพัฒนาองค์กร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร รวมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

3. ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการสร้างความตระหนักรู้และความเชื่อมั่นศรัทธาแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมไปกับความมั่นคงและเสถียรภาพ

4. พร้อมทำหน้าที่เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี กรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

ปัจจุบันกองทุนประกันชีวิตดำเนินการภายใต้ภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้กองทุนประกันชีวิตต้องเผชิญกับปัจจัยความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา อาทิ เศรษฐกิจมหภาค นโยบายประเทศไทย 4.0 ระบบราชการ 4.0 รัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนการแข่งขันในอุตสาหกรรมประภัยที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนประกันชีวิต และการมีผลบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ส่งผลให้ทุกหน่วยงานรัฐ รวมถึงกองทุนประกันชีวิตจะต้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดแรงผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button