คมนาคม

มิ.ย.นี้ เคาะท่าเรือแลนด์บริดจ์ “ชุมพร-ระนอง”ขนส่งน้ำมันเชื่อมช่องแคบฮอร์มุซไป“จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้”

“ศักดิ์สยาม” สั่งการทุกหน่วยงานเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน Land bridge ให้เป็นไปตามแผน เผยปักธง “ชุมพร-ระนอง” เป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบต่อเนื่องจากช่องแคบฮอร์มุซไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คาดผลศึกษาพื้นที่ท่าเรือแล้วเสร็จเดือนมิ.ย.นี้ ก่อนส่งต่อกรมทางฯ การรถไฟฯ ผุดมอเตอร์เวย์และทางรถไฟเชื่อมต่อสองฝั่งทะเล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เมื่อวัน ที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยโครงการสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) มอบหมายให้ สนข. ดำเนินการ 2. การพัฒนามอเตอร์เวย์เชื่อม Land Bridge มอบหมายให้ ทล. ดำเนินการ และ 3. การพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อม Land Bridge มอบหมายให้ รฟท. ดำเนินการ โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า แนวทางในการดำเนินโครงการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) นั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมในการขนส่งทางทะเลของโลก ซึ่งในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางหลัก โดยจากสถิติการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมันดิบในปี พ.ศ. 2559 พบว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตจากพื้นที่เอเชียตะวันออกกลาง ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน ประมาณ 19.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผ่านทางช่องแคบมะละกา ประมาณ 16.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อขนส่งไปยังประเทศ แถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่มีการนำเข้ามากกว่า ร้อยละ 80 ในขณะที่การขนส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ประมาณ 24.7 ล้านตู้ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั่วโลก

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ท่าเรือสิงคโปร์กลายเป็นท่าเรือที่มีคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และเป็นท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยเหตุนี้พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยจึงมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ทั้งจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค สำหรับการเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่างๆ ของโลก และยังมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการ ซึ่งสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่งหลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา จึงมีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อได้เปรียบดังกล่าว กระทรวงคมนาคม โดย สนข. จึงได้กำหนดบทบาทของโครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง ให้เป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบ หรือ Oil Bridge โดยขนส่งน้ำมันทางเรือจากช่องแคบฮอร์มุซ มายังท่าเรือระนอง และผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อขนส่งทางเรือไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการเป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเป็นท่าเรือสำหรับการประกอบชิ้นส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ส่งเสริม Land Bridge และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

“ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือ โดยพิจารณาทั้งพื้นที่โครงการฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย โดยการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง นั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกได้ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน  นี้ ก่อนที่กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะดำเนินการ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้นแนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษ และทางรถไฟตามกรอบการดำเนินการโครงการ MR-MAP เชื่อมต่อท่าเรือสองฝั่งทะเลต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button