พลังงาน

กฟผ. ปรับแผนการนำเข้า LNG เริ่มนำเข้าไตรมาส 4 ปีนี้

กฟผ. เตรียมปรับแผนการนำเข้า LNG ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบัน โดยแผนการนำเข้าของ กฟผ. จะกำหนดช่วงการซื้อเป็นระยะเวลา 5-7 ปี คาดเริ่มนำเข้าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไตรมาสที่ 4 ปี 2564

นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด แนวทาง และหลักเกณฑ์การนำเข้าก๊าซธรรมชาติให้แล้วเสร็จและเสนอ กพช. ภายในไตรมาสที่ 2ของปี 2564

ราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.

กฟผ. จึงได้มีการทบทวนแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบัน จากแผนเดิมที่มีระยะเวลา 3 ปี (2564 – 2566) เป็นการจัดหา LNG ในสัญญาระยะกลาง 5 – 7 ปี วงเงินงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเตรียมการนำเข้า LNG และวางแผนการจองใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG ให้มีความเหมาะสมสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลราคาผู้จัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ. และนำเสนอคณะกรรมการ กฟผ. พิจารณาประมาณเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 นี้ เพื่อให้เริ่มนำเข้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ปริมาณนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 3 แสนตัน สำหรับปี 2565 เป็นต้นไป เบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง

ทั้งนี้ กฟผ. จะหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การนำเข้า LNG ทั้งในด้านราคาและปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงกับระบบไฟฟ้าและไม่กระทบต่อภาระ Take or Pay ในสัญญาที่ทำไว้กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

#นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) #กฟผ. #การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 #ปตท. #Take or Pay #หลักเกณฑ์การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ #LNG #สำนักข่าวไทยมุง

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button