พลังงาน

ย้อนรอยวิบากกรรม “โรงไฟฟ้าชุมชน” ก่อนเปิดประมูล มี.ค. นี้ (ตอน 1)

ยาวนานถึง 546 วันเลยทีเดียวกว่าโครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชน” จะเดินทางมาใกล้ความจริงมากที่สุด หลังจากฝ่ามรสุมลูกแล้วลูกเล่า จนได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เมื่อวันที่ 21 มกราคม และปิดรับฟังไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

จากนี้จะมีการรวบรวมความคิดเห็นนำไปปรับปรุงออกระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก “โรงไฟฟ้าชุมชน” เพื่อนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเห็นชอบ

จากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายถึงจะได้ออกประกาศการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า และเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าได้ในวันที่ 22 มีนาคม ที่จะถึงนี้

เว้นเสียแต่หลัง “ศึกซักฟอก” การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี ในวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ นี้ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล “แพแตก” เสียก่อน !!

จึงต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์กว่า เกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนจะก้าวทีละก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของ “โรงไฟฟ้า” ช่างยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

จุดเริ่มต้นโรงไฟฟ้าชุมชนนับหนึ่งขึ้นวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เมื่อคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา หนึ่งในนโยบายที่สำคัญด้านพลังงานนั่นคือ การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง และมีราคาถูก

เป็นที่มาการคลอดนโยบาย “Energy for all” ยุคที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” นั่งคุมว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งเน้นให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าในชุมชนตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก หรือเป็นจุดกำเนิดโรงไฟฟ้าชุมชนนั่นเอง

เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีหลักการและเหตุผลในการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า ที่สำคัญส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงของแต่ละพื้นที่ ตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนภายใต้แผน AEDP และสอดคล้องกับแผน PDP2018 ด้วย

เรียกว่าพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการพลังงานประเทศไทยก็ว่าได้ เมื่อจะมีการเปิดโอกาสให้ “ชุมชน” เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้ จนเกิดการตอบรับโรงไฟฟ้าชุมชนจากทุกสารทิศทั่วประเทศ หรือเกิดกระแส “ฟีเวอร์” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ประกาศสำคัญมีการกำหนดจะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนมากถึง 1,000 เมกะวัตต์ เลยทีเดียว

“เป็นครั้งแรกที่เกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน จะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าสักที ต่างจากในอดีตที่มีเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น”

“โรงไฟฟ้าชุมชนนอกจากเกษตรกรจะได้เป็นเจ้าของแล้ว ยังสร้างรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์ให้กับโรงไฟฟ้าด้วย ต่อไปผมไม่ห่วงเกษตรจะขายหญ้าเนเปียร์ไม่ได้ แต่จะห่วงตรงที่เกษตรกรจะไม่ยอมขายหญ้าเนเปียร์ให้กับโรงไฟฟ้า เพราะหญ้าจะมีราคาสูงขึ้น” ใจความโดยสรุปตอนหนึ่งที่นายสนธิรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยนั้นกล่าวระหว่างเปิดประชุมพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบาย Energy for all ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชน ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็ได้เห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แต่ได้ลดจำนวนเมกะวัตต์ลงเหลือแค่ 700 เมกะวัตต์เท่านั้น แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ

  1. โครงการ Quick win เป็นการเปิดให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 63
  2. โครงการทั่วไปจะเป็นเปิดคัดเลือกผู้สนใจร่วมโครงการ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 64 เป็นต้นไป ปริมาณพลังไฟฟ้าแต่ละโครงการไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

หัวใจสำคัญการคัดเลือกจะพิจารณาเรียงลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนจาก “มากที่สุด” ไปหา “น้อยที่สุด”

และเปิดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ถือหุ้นบุริมสิทธิได้ 10% พร้อมเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกในสัดส่วนไม่เกิน 40% ส่วนภาคเอกชนอาจเข้าร่วมกับองค์กรของรัฐ ถือหุ้นในสัดส่วน 60-90%

แถมกำหนดส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้ายังไม่หักค่าใช้จ่ายให้กับ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นของโรงไฟฟ้านั้นๆ แบ่งเป็นรายได้สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มสำหรับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” หวังสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกันขนานใหญ่ ว่ากันว่าจะมีเม็ดเงินอัดฉีดสู่ชุมชนมากถึง 7 หมื่นล้านบาท จากการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ บวกรายได้จากขายหญ้าเนเปียร์อีกต่างหาก

บรรยากาศปี่กลองการเปิดประมูลเริ่มคึกคัก กางปฏิทินนับถอยหลังสู่การประมูลจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในตอนแรก หลังจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดทำรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ และจะประกาศหลักเกณฑ์คัดเลือกต่อไป โดยทางภาคเอกชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศก็ได้ประกาศความพร้อมแข่งขันกันอย่างเต็มที่

แต่วิบากกรรมครั้งแรกก็เกิดขึ้น เมื่อมี “ไอ้โม่ง” ออกตระเวนป่าวประกาศไปทั่วว่า สามารถวิ่งเต้นโรงไฟฟ้าชุมชนกับรัฐมนตรีเพื่อให้อนุมัติโครงการได้

เดือดร้อนถึง “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในตอนนั้นต้องรีบออกมาสยบกระแสข่าวดังกล่าว พร้อมยืนยันหนักแน่นไม่มีใครวิ่งเต้นเพื่อขอโครงการได้อย่างแน่นอน

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไม่มีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการอนุมัติโครงการ ใครก็ตามที่เที่ยวไปบอกทั่วประเทศว่าสามารถวิ่งเต้นกับรัฐมนตรีได้ ไม่มีครับ ผมยืนยันได้ ใครบอกว่าวิ่งเต้นได้ ไม่มี ทุกอย่างอยู่บนกรอบ และกติกา อย่าเชื่อ ใครก็ตามที่บอกว่า วิ่งเต้นได้ จ่ายเงิน จ่ายทอง ช่วยแจ้งกลับมาที่ผมด้วย จะได้ยกเลิกโครงการนั้นทิ้งให้หมด ไม่มีครับ ทำตามกติกา ตามกรอบชัดเจน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

และเพื่อตอกย้ำการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้การดำเนินการของ กพช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย เป็นไปตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและใช้พลังงานตามศักยภาพในพื้นที่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในด้านพลังงานได้

ซึ่งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ส่วนกรรมการสำคัญๆ อาทิ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมโรงงาน ฯลฯ

ท่ามกลางโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังติดลมบนเป็นที่สนใจของสังคม กระทรวงพลังงาน ได้รับนโยบายจัดงาน “คิกออฟ” โรงไฟฟ้าชุมชนอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ภายในงานจะมีการแสดงต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่ประสบความสำเร็จ เป็นเวทีพบปะกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศกับภาคเอกชน การแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นต้น วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะมีคนเข้าร่วมงานมากกว่า 2 พันคน

แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อใกล้ถึงวันจัดงานปรากฏว่า ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นเสียก่อน จึงต้องยกเลิกงานดังกล่าวไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้ายยังมีข่าวดี เมื่อกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า พพ. ได้ฤกษ์จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ที่กระทรวงพลังงาน ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ก่อนจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าต่อไป หลังจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นด้านเทคนิค การเงิน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้สนใจนำเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว

(ติดตามอ่าน ย้อนรอยวิบากกรรมโรงไฟฟ้าชุมชน ตอน 2)

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button