พลังงาน

เปิดยื่นข้อเสนอ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ทันที หลังแผนพีดีพีผ่านความเห็นชอบจาก ครม.วันที่ 14 ก.ค.นี้

ลุ้นแผนพีดีพีเข้า ครม. พรุ่งนี้ (14ก.ค.) “สนธิรัตน์” ยันหากผ่านการพิจารณาเปิดประกาศให้ยื่นเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick Win ทันที ขณะเดียวกันได้เร่งโซลาร์ภาคประชาชน 50 เมกะวัตต์ให้แล้วเสร็จปีนี้ แย้มปรับเงื่อนไขจูงใจชาวบ้านเพียบ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  กล่าวแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.) ซึ่งบรรจุแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณาว่า คาดว่ามีการนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.วันที่ 14 ก.ค.นี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะเปิดประกาศให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชนสำหรับกลุ่มเร่งด่วน (Quick Win) จำนวน 100 เมกะวัตต์ ทันที

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงพลังงานชี้แจงเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาแผนพีดีพีฉบับใหม่เกี่ยวกับตัวเลขการลงทุนการผลิตไฟฟ้าชุมชน ที่เห็นว่ามีมากถึง 1,933 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้า ระยะ 20 ปี จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการปรับเป้าหมายหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ในบางประเภท แต่ยังคงเป้าหมายไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์นั้น โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ส่งเอกสารชี้แจงดังกล่าวมายังกระทรวงพลังงาน และได้ยื่นให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

โดยเรื่องนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ มาจากการเกลี่ยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ จากแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ ทำให้โรงไฟฟ้าชุมชนออกมาได้ตังเลขดังกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังกล่าวถึงโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้ประกาศให้มีแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อผลักดันการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านประชาชน ให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้คณะทำงานเลย อย่างไรก็ตาม จะต้องทำให้สำเร็จ หลังจากที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ จะได้นำแผนไปสู่การปฏิบัติให้แล้วเสร็จตามจำนวน 50 เมกะวัตต์ ที่บรรจุไว้ในแผนพีดีพี ภายในปี 2563 นี้

“ถ้ามีข้อจำกัดจะต้องทะลวงปัญหาให้ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาการติดตั้งโซลาร์หลังคาบ้านของประชาชนแต่มีการจูงใจเซ็นสัญญาขายไฟเพียง 10 ปี จะเป็นไปได้ถ้ามีการปรับใหม่ให้มีการเซ็นสัญญา 20-25 ปี ให้เท่าๆ กับการที่ภาครัฐรัฐซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนใหญ่ๆ เช่นเดียวกับราคาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมีการให้ Adder อยู่ที่ 7-8 บาทต่อหน่วย แต่พอมาถึงชาวบ้านเหลือ 1.68 บาทต่อหน่วยเท่านั้น เมื่อวิธีคิดมันผิดหมด ถึงแม้ชาวบ้านอยากได้ แต่มันไม่คุ้มการลงทุน ทำให้ไม่มีใครสนใจ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดก็จะทำให้พลังงานสามารถเปลี่ยนชีวิตได้” นายสนธิรัตน์ กล่าว

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button