พลังงาน

เปิดหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนชัดๆ รับประชาพิจารณ์ วันที่ 13 มี.ค. นี้

“บิ๊กตู่”กำชับผุดโรงไฟฟ้าชุมชนชาวบ้านจะต้องได้ประโยชน์ ชี้เป็นการเปลี่ยนแนวคิดประเทศไทยให้ชุมชนเป็นเจ้าของได้ กระทรวงพลังงานเดินหน้าประชาพิจารณ์ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ เปิดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สนใจชัดๆ ก่อนดีเดย์ให้ยื่นข้อเสนอได้ในเดือน มี.ค.นี้  

ในโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่าครั้งที่ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้เยี่ยมบอร์ดนิทรรศการต่างๆ ที่ได้แสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปรับสมดุลปาล์มเพื่อความยั่งยืนของกระทรวงพลังงาน เป็นการส่งเสริม B10 และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นได้รับฟังความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายต่างๆ และมอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการที่เข้าร่วมกว่า 40 หน่วยงาน

โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้นำเสนอความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สำคัญ นั้นคือ การขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนมีเป้าหมายรวมรับซื้อไฟได้ 700 เมกะวัตต์ เกิดเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กองทุนหมู่บ้านทุกปี และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาวัสดุเกษตร 2.5 หมื่นตัน ซึ่งจะประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อได้ในเดือนมีนาคม 2563 นี้

ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่สามารถยื่นขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันที ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภายหลังประชุมว่า โรงไฟฟ้าชุมชนได้เปลี่ยนแนวคิดจากเดิมมาให้ชุมชนเป็นเจ้าของได้ และอยากจะให้เกิดขึ้น พร้อมกับได้เร่งให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งตนได้ให้นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนไปว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนคนในท้องถิ่นจะต้องได้ประโยชน์ เกิดการลงทุน โดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนจะมีภาคเอกชนร่วมลงทุน 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นหุ้นลมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถเพิ่มสัดส่วนจาก 10เป็น 40% ได้ เพราะในสัญญาได้ระบุเอาไว้แล้ว

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชุมชนทั้งหมดจะเกิดในพื้นที่ที่ประชาชนมีความต้องการ พร้อมกับได้เปิดรับซื้อเชื้อเพลิงที่จะมีการส่งเสริมชุมชนปลูกพืชพลังงานด้วย เพราะโรงไฟฟ้าจะใช้วัตถุดิบจากพืชโตเร็ว ใบอ้อย ไผ่ หรือหญ้าเนเปียร์ แต่จะต้องมีการคำนวณให้ดีว่า โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งมีปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบพืชพลังงานไปป้อนโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไปกำหนดการโซนนิ่งปลูกพืชพลังงานให้สอดคล้องกันตลอดทั้งปี ไม่ใช่มีการปลูกพืชพลังงานแล้วเกิดการล้นตลาดอีก ซึ่งจะต้องไปดูตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งปลายทางคือ ผู้ได้รับประโยชน์จากการขายพืชพลังงานในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าระยะ 5-10 กิโลเมตร และยังมีรายได้จากการขายไฟแบ่งให้ชุมชนด้วย จากเดิมจะมีเงินแบ่งให้กองทุนในท้องถิ่นเท่านั้น เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งในชุมชน

ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวไทยมุง” รายงานว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะเปิดประชาพิจารณ์การคัดเลือกเอกชนผู้สนใจดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในวันที่ 13 มีนาคม 2563 นี้ ที่กระทรวงพลังงาน จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอต่อไป หลังจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นด้านเทคนิค การเงิน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้สนใจนำเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว ประกอบด้วย

เอกสารแสดงคุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ ประกอบด้วย เอกสารแสดงความเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฏหมายไทย หุ้นส่วนในนิติบุคคลมีสัญชาติไทย และมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วย

รูปแบบการลงทุนให้ระบุว่า กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) ถือหุ้นในนิติ บุคคล ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-90 และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก รวมไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ถือหุ้นในนิติบุคคล ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40

รูปแบบการดําเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชน ประกอบด้วยเอกสารแสดงว่าพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าไม่ขัดต่อกฎหมายในการจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า เอกสารแสดงแผนผังโรงไฟฟ้า (Plant Layout) เอกสารใบอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงาน หรือ รง.4

ข้อมูลเบื้องต้นของกระบวนการผลิต ประกอบด้วย 1.กระบวนการผลิต (Process Flow Diagram) เป็นอย่างไร วิสาหกิจชุมชนจําหน่ายเชื้อเพลิงพืชพลังงานอะไร และเสนอราคากี่บาทต่อกิโลกรัม มีปริมาณกี่กิโลกรัม/ปี และคิดเป็นสามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่าไหร่ต่อปี

นอกจากนี้ ยังต้องแสดงพื้นที่ที่จะปลูกไม้โตเร็วหรือพืชพลังงานด้วยว่ามีจำนวนพื้นที่กี่ไร่ พร้อมแสดงระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมกับกําลังการผลิต แสดงหลักฐานแสดงที่มาของเงินลงทุนและเงินหมุนเวียน ที่แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการดําเนินการ

เอกสารหลักฐานแสดงมาตรการที่รัดกุมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ของชุมชน เอกสารแสดงหลักฐานผลการรับฟังความเห็นของชุมชน แผนการจัดหาเชื้อเพลิง เพื่อแสดงความพร้อมด้านเชื้อเพลิง ที่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า และการวิเคราะห์การลงทุนและผลตอบแทนด้วย

สำหรับด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน ผู้สนใจจะต้องนำเสนอส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจําหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ แบ่งเป็นส่วนแบ่งรายได้ ไม่ต่ำกว่า 0.25 บาทต่อหน่วย สําหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลก๊าซ ชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 0.50 บาทต่อหน่วย สําหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็น Hybrid

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button