พลังงาน

สนพ.ฟันธงราคาน้ำมัน “ขาขึ้น” จากทั่วโลกคลายล็อกดาวน์ และ OPEC+ ลดการผลิต

สนพ. คาดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยที่ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในประเทศในยุโรปและทั่วโลก บวกกับกลุ่ม OPEC+ เริ่มเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตวันละเกือบ 10 ล้านบาร์เรล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี ฟินแลนด์ สเปน และประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นและต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ได้เริ่มเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงที่ ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ตามข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินในช่วง 12 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในระหว่างวันที่ 27 เม.ย.-5 พ.ค.63 จึงพบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศในยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 18.10 เหรียญสหรัฐ และ 15.76 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.50 เหรียญสหรัฐ และ 12.53 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากปัจจัยต่างๆ คือ ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จากสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ฟินแลนด์ และสเปน เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ 24 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 10.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล

Rystad Energy คาดว่าสหรัฐฯ จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 300,000 บาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ค.- มิ.ย. 63 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการด้านพลังงานของรัฐเท็กซัส ก็จะมีการประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในวันที่ 5 พ.ค. 63 นี้

สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.16 เหรียญสหรัฐ และ 21.19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.86 เหรียญสหรัฐ และ 3.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งมีผลมาจากตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้น หลังรัฐบาลหลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 24 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ 5.9 ล้านบาร์เรล/วัน นับเป็นปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่สูงที่สุดตั้งแต่ วันที่ 27 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37%

EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 63 ลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 259.6 ล้านบาร์เรล

Euroilstock รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินของยุโรป เดือน มี.ค. 63 ลดลง 0.27 ล้านบาร์เรล/วัน MoM หรือคิดเป็น 11.6% มาอยู่ที่ 2.08 ล้านบาร์เรล/วัน

ทางด้านราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 26.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 อย่างไร ก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลง หลังโรงกลั่นในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุงและปรับลดกำลังการผลิต และปริมาณน้ำมันดีเซลในเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังตะวันออกกลางมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการส่งน้ำมันดีเซลจากมายังเอเชียมากกว่าไปยุโรป

EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 5.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 142 ล้านบาร์เรล

Platts รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ใน UAE ที่ FOIZ สัปดาห์สิ้นสุด 27 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรล

สำหรับค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.03 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.6064 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.17 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.15 บาท/ลิตร ทำให้ ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.01 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.97 บาท/ลิตร

ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 63 กองทุนน้ำมัน มีสินทรัพย์รวม 56,548 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 21,093 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 35,455 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 41,465 ล้านบาท บัญชี LPG -6,010 ล้านบาท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button