พลังงาน

เปิดผลศึกษาแผนพัฒนาอุตฯ ปิโตรเคมีระยะที่ 4 เลือกลงทุน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ปักธง “ปัตตานี-หาดใหญ่-สงขลา”

เปิดผลศึกษาแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด เลือก 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ “ปิโตรเคมี-เคมีเสริม-ชีวภาพ” พลิกโฉมคลัสเตอร์ยางพารา แปรรูปยาง แปรรูปพลาสติก ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง เอทานอล และแก๊สโซฮอล์ ปักธงพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง “ปัตตานี-หาดใหญ่-สงขลา” คาดเสนอ ครม. อนุมัติภายในปี 64 นี้

วันนี้ (4 มีนาคม 2564) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็น “โครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นแกนหลัก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตหลังเกิดวิกฤติโควิด-19

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ. สนพ.

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า “ ปิโตรเคมีมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมานานกว่า 40 ปี และเป็นอุตสาหกรรมแรกของประเทศที่มีแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี 2523 อยู่ในการพัฒนาระยะที่ 4 ในช่วงปี 2561-2580

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้กำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 ผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศไทยยังมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีและพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในรูปแบบเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะต่อไป จำเป็นที่จะต้องต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มเติมจากฐานที่มีในปัจจุบันเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต”

สนพ.จึงได้มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ EEC และพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต หรือการจัดทำแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

โดยที่ผ่านมา  สนพ. และ PTIT ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้มาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่การนำเสนอแนวคิด ภาพรวมและแนวทางของการศึกษา จนได้มาซึ่งแนวคิดการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงปิโตรเลียมและปิโตรเคมีกับการเกษตร ไปจนถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เคมีเสริม และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมไปถึงพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งใน EEC และพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะยาว ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพมาดูแลการบริหารจัดการพื้นที่ควบคู่กันไปกับการเตรียมความพร้อมก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และกระจายรายได้ไปยังภาคอื่นนอกเหนือจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมไปถึงข้อเสนอสำหรับการจัดทำนโยบาย มาตรการส่งเสริม กฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในครั้งนี้ โดยการสัมมนาแต่ละครั้งที่ผ่านมาได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และที่ปรึกษาสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำผลการศึกษาเป็นอย่างดี

การจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้  จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของโครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำเสนอแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงานเห็นชอบ ก่อนนำเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติภายในปี 2564 นี้

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้บรรยายสรุปจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ชุดเหลือง)

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต จากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการ คือ แนวคิดการพัฒนา 2 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหญ่ๆ คือ คลัสเตอร์ปิโตรเคมี ยางพารา แปรรูปยาง และแปรรูปพลาสติก คลัสเตอร์ปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี ปาล์มน้ำมัน B100 เป็นต้น และหนึ่งอุตสาหกรรมย่อม ที่เชื่อมโยงปิโตรเลียมและปิโตรเคมีภาคการเกษตร คือ กลุ่มปิโตรเลียม อ้อยและมันสำปะหลัง เอทานอล และแก๊สโซฮอล์

ทั้งนี้ คณะศึกษาได้คัดเลือกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เคมีเสริม และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยพิจารณาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบริบทโลก

สำหรับการเลือกพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ พื้นที่ทุ่งนเรนทร์ ต่อเนื่องปะนาเระ จ.ปัตตานี พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาเป็นย่านธุรกิจพาณิชย์และบริการ เพื่อรองรับการพัฒนาในทุ่งนเรนทร์-ปะนาเระ

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือฝั่งตะวันตก (West Gate) ในจังหวัดตรัง และจังหวัดสตูลพื้นที่ EEC ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันแต่เหลือพื้นที่ไม่มากนัก รวมถึงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button