คมนาคม

“ไทย-สปป.ลาว”สร้างสะพานข้ามน้ำโขงและเดินรถไฟแห่งใหม่

“อาคม”ประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคม ไทย–ลาว  เสนอครม. สร้างสะพานข้ามแม่ข้ำโขงแห่งที่ 5 “บึงกาฬ-บอลิคําไซ” และแห่งที่ 6 “อุบลราชธานี-สาละวัน” พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ขยายการเดินรถไฟจากท่านาแล้งไปถึงเวียงจันทน์ และศึกษาเส้นทางเดินรถไฟจากอุบลฯ ไปปากเซด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคม ไทย–ลาว ณ โรงแรมอมันตรา จังหวัดหนองคาย โดยมี นบุญจัน สินทะวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะฯ นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้บริหารกรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กองการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงฯ ในพื้นที่ ร่วมการประชุมฯ

สำหรับประเด็นการหารือและติดตามความคืบหน้า ประกอบด้วย  1. การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขง ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคําไซ) คาดว่าจะเสนอเรื่องขออนุมัติโครงการและขออนุมัติลงนามข้อตกลงให้ ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า และโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ได้สำรวจออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนเตรียมจะเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการซ่อมแซมบูรณะความเสียหายสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)
และแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) อยู่ระหว่างรอจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการซ่อมแซมได้ภายในเดือน มิถุนายน ๒๕๖๒ นี้ และให้คณะทำงานทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันเกี่ยวกับการตั้งด่านชั่งน้ำหนัก การเก็บค่าธรรมเนียมรถไฟในอนาคต เพื่อความเท่าเทียมกันในระบบขนส่งฯ

2.การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟได้แก่ โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่าง ไทย-จีน และระหว่าง ลาว-จีน และโครงการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ที่เป็นการเชื่อมต่อโดยสะพาน ได้ลงนามบันทึกตกลงความร่วมมือ โดยจีนจะออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับรูปแบบของสะพานมิตรภาพ และให้ไทยพิจารณาความเหมาะสมของแบบก่อนดำเนินการก่อสร้าง

การก่อสร้างเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์)ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมรถไฟ สปป.ลาว พิจารณาการจัดเดินขบวนรถไฟสินค้าระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว จัดเตรียมแผนการเดินรถไฟไปยังสถานีเวียงจันทน์ แผนธุรกิจล่วงหน้า และข้อตกลงร่วมกันก่อนที่งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายรวมถึงการใช้ประโยชน์ย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่านาแล้ง และการเดินรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการ


โครงการรถไฟระหว่างอุบลราชธานี-ปากเซ พื้นที่เชื่อมต่อบริเวณช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทาง เฉพาะในประเทศไทย 80 กิโลเมตร รฟท. ได้เสนอของบประมาณปี 2563 เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้

3.การอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การเร่งรัดการกำหนดพื้นที่ควบคุมร่วมกัน ณ มุกดาหาร-สะหวันนะเขตให้เป็นรูปธรรมตามข้อตกลง GMS การส่งเสริมการเดินรถโดยสารประจำทางไทย-ลาว-เวียดนาม โดยให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อผลักดันและร่วมกันวางแผนการเดินรถในกรอบอาเซียน และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างไทย-ลาว กำหนดให้จัดการประชุมร่วมกันภายในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้

4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่เร่งรัดโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (ช่วงสะพานน้ำสัง-บ้านโนนสะหวัน-บ้านโคกเขาดอ และช่วงบ้านโนนสะหวัน-สานะคาม โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 12 (ช่วงเมืองท่าแขก-แขวงคำม่วน-จุดผ่านแดนนาเพ้า) ผลักดันการรวมเส้นทางหมายเลข 12 ให้เป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ และรวมใน GMS CBTA ซึ่งจะทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์ในการดำเนินการมากขึ้น

เร่งรัดโครงการก่อสร้างสะพานจากเมืองหลวงพระบาง-เมืองจอมเพชร และการปรับแผนโครงการการปรับปรุงเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง เส้นทางบ่อแก้ว-ปากทา-ก้อนตื้น

5.การขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่าให้ความช่วยเหลือการร่างหลักสูตรลูกเรือ นายท้ายเรือ และความปลอดภัย
ในการเดินเรือ พร้อมทั้งการฝึกอบรมให้แก่ผู้ฝึกสอนสปป.ลาว

6.การขนส่งทางอากาศแการจัดทำความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในการค้นหาอากาศยานประสบภัย ขณะนี้ร่างความตกลงฯ แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถลงนามความตกลงฯ ได้ภายในกรกฎาคม 2562

7.การพัฒนาบุคลากรสปป.ลาว จะส่งหลักสูตรพร้อมลำดับความสำคัญของหลักสูตรให้แก่ฝ่ายไทยเพื่อพิจารณาจัดทำแผนรวมให้ความช่วยเหลือต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button