พลังงาน

เปิดจองทางออนไลน์ “โซลาร์ภาคประชาชน” 24 พ.ค.นี้

กกพ. พร้อมแล้ว ! เปิดให้ครัวเรือนยื่น“โซลาร์ภาคประชาชน” วันที่ 24 พ.ค. นี้ คลิกก่อนได้สิทธิ์ก่อน โดยครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของ กฟน. ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมทุราปราการ จองผ่านออนไลน์ https://spv.mea.or.th พื้นที่อีก 74 จังหวัดในความดูแลของ กฟภ. คลิกผ่าน https://ppim.pea.co.th ส่วนการติดตั้งได้ขึ้นบัญชี 60-70 บริษัทเพื่อให้คำแนะนำและดำเนินการช่วยเหลือแล้ว เผยผลตอบแทนคืนทุนตั้งแต่ 6 ปีจนถึง 12 ปี

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการรับสมัครประชาชนผู้สนใจที่จะเข้าร่วม โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่ ในการอำนวยความสะดวกผ่านช่องทางเว็บไซต์ของ กฟน. และ กฟภ. โดยได้เน้นย้ำเรื่องความรวดเร็ว และความโปร่งใสในการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศเป็นการทั่วไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“เราคาดว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะได้รับความสนใจจากประชาชนค่อนข้างมาก ผมจึงได้เข้ามาร่วมประชุมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมการเตรียมความพร้อมในกระบวนการรับยื่น และให้นโยบายว่า ในการพิจารณาที่ต้องอำนวยความสะดวก และรวดเร็ว โปร่งใสอย่างเต็มที่”

ภายหลังจากที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิในการยื่นเข้า โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และได้เผยแพร่สู่สาธารณชนแล้วนั้น โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็กได้ผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท๊อป) เพื่อใช้เอง และนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดยมีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี


นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภายหลังที่ กกพ. ได้ออกระเบียบ ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน พ.ศ. 2562 พบว่า มีประชาชนเข้ามาสอบถามข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มอบหมาย และเน้นย้ำให้ สำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินจัดทำช่องทางการสื่อสารความรู้ ตลอดจนการให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการให้องค์ความรู้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจ และให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และเกิดผลประโยชน์จากการลงทุนให้ได้มากที่สุด

“ผมเองเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับ คำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะดูจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก อยากให้มีการเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการและช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าในบ้านของตนเองก่อน เช่น หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า กล่าวคือ เน้น ผลิตเองใช้เอง ก็เหมือนไม่ต้องซื้อไฟฟ้าได้ประหยัดค่าไฟไปประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย เหลือถึงขายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี” นายเสมอใจ กล่าว

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดรับสมัครประชาชนผู้สนใจ เพื่อยื่นขอขายไฟฟ้า จะเป็นการยื่นผ่านระบบออนไลน์ในช่องทางเว็บไซต์ ของ กฟน. ที่ https://spv.mea.or.th และ เว็บไซต์ของ กฟภ. ที่ https://ppim.pea.co.th ซึ่งได้มีออกแบบมาเป็นช่องทางเฉพาะเพื่อรองรับการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้กับประชาชนผู้สนใจที่จะเข้ามาสมัคร โดยจะเปิดรับยื่นความจำนงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562 โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะทยอยประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า รวมทั้งส่งผลให้ผู้สมัครได้รับทราบทางอีเมลที่ได้แจ้งไว้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

“ในปี 2562 โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ได้กำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 30 เมกกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 70 เมกกะวัตต์ โดย กฟน. ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ สำหรับพื้นที่ดำเนินการของ กฟภ. ประกอบด้วย 74 จังหวัด ที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ดำเนินการของ กฟน. โดยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th ซึ่งจะมีลิงก์ (Link) เชื่อมโยงเข้าระบบการลงทะเบียนกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Online) และดาวน์โหลด (Download) เอกสารที่เกี่ยวข้อง และอัพโหลดเอกสาร (Upload) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ในเว็บไซต์ของ กฟน. และเว็บไซต์ กฟภ. ได้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม นี้ และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562” นางสาวนฤภัทร กล่าวย้ำ

ขณะที่นายพโยมสฤษฏ์ ศรีพัฒนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ในการยื่นขอติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชนผ่านทางเว็บไซต์จะต้องระบุอุปกรณ์และแผงโซลาร์ที่ได้มาตรฐาน มอก. ส่วนการติดตั้งขณะนี้ทาง กฟภ. ได้ขึ้นทะเบียนบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาพร้อมดำเนินการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับประชาชนแล้ว 90% ของบริษัทที่มีอยู่ในตลาด หรือประมาณ 60-70 บริษัท โดยค่าติดตั้งขนาด 10 กิโลวัตต์ จะอยู่ประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งราคาลดลงจากเมื่อหลายปีก่อนค่อนข้างมาก

ด้านผู้สื่อข่าว “สำนักข่าว ไทยมุง” รายงานว่า จากการติดตาดูการสาธิตกระบวนการยื่นจองโซลาร์ภาคประชาชนผ่านทางออนไลน์ทั้งของ กฟภ. และกฟน. นั้นมีความยุ่งยากมาก เพราะมีขั้นตอนต่างๆ และกรอกเอกสารประกอบการพิจารณาจำนวนมาก

ส่วนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ขนาด 1 กิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นบาท โดยขนาด 2-3 กิโลวัตต์ ใช้เงินประมาณ 6-9 หมื่นบาท ถ้าผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งหมดจะคืนทุนภายใน 5.97-5.74 ปี ถ้าติดตั้งขนาด 8 กิโลวัตต์ ใช้เงินประมาณ 2.4 แสนบาท กรณีไม่มีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันจะคืนทุนภายใน 12.37 ปี หรือถ้าผลิตไฟฟ้าใช้เอง 50% และขายส่วนเกิน 50% จะคืนทุนภายใน 7.58 ปี

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button