พลังงาน

เปิดเบื้องลึก ! ปมไทยเสี่ยง “ไฟฟ้าดับ” ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. เป็นต้นไป

เตือนกันเอาไว้เนิ่นๆ ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม นี้ เป็นต้นไป คนไทยเสี่ยงจะไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างสบายใจกันอีกต่อไป เพราะอาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน “ไฟฟ้าดับ” ในวงกว้างหลายพื้นที่ของประเทศไทย

พื้นที่เสี่ยงจะเกิดไฟฟ้าดับจะกระจายไปทั่วประเทศ  และเลือกพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยสุดไปหามากสุด ซึ่งตามแผนการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านไฟฟ้าได้มีการประสานสั่งการให้ การไฟฟ้าไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.)​ ให้ดำเนินการเลือกสลับดับไฟในบางพื้นที่ หรือ Partial ​Blackout ล่วงหน้า เอาไว้แล้ว

ส่วนเวลาที่คาดว่าจะเกิดไฟฟ้าดับมากที่สุดน่าจะเป็นช่วงที่ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) คือ ตั้งแต่ช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป จนถึง 4 ทุ่ม

ถามว่าประเทศไทยเดินมาถึงจุดไฟฟ้าดับเหมือนกับช่วง 40 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร

สาเหตุหลักๆ มาจากประเทศไทยได้พึ่งพาก๊าซธรรมชาติ LNG เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากเกินไปถึง 60% และเพื่อความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจะต้องมีถังสำรองน้ำมันดีเซลด้วย แต่ในเดือนสิงหาคม นี้ ปรากฏว่าปริมาณสำรองเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งก๊าซ LNG และน้ำมันดีเซลมีไม่เพียงพอที่จะนำไปผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการได้ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า ในเดือนสิงหาคม นี้ มีปริมาณสำรอง LNG ที่จะได้รับจาก ปตท. หายไป 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต จากเดิมที่ต้องส่งให้อยู่ที่ 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อเดือน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์สงครามระหว่างารัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคา LNG ในตลาดโลกสูงขึ้น จนทำให้หลายประเทศขาดแคลนพลังงาน

จากปัญหา LNG ในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 58 เหรียญ​สหรัฐต่อล้านบีทียู นอกจากจะทำให้การจัดหาเป็นเรื่องลำบากเพราะมีราคาแพง แม้จะสามารถซื้อหามาได้แต่ผลที่ตามมาคือ กลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นถึง 8 บาทต่อหน่วย

อีกอย่างที่ทำให้ปริมาณสำรองเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอมาจากนโยบายของภาครัฐได้เปิดเสรีก๊าซให้ Shipper จัดหาก๊าซเข้ามาในประเทศได้ แต่เมื่อสถานการณ์พลังงานโลกมีราคาสูงขึ้น บวกกับวิกฤติสงครามทำให้ไม่มีใครสามารถจัดหาก๊าซเข้ามาให้เพียงพอได้

และจากนโยบายเปิดเสรีก๊าซ ทำให้ ปตท. ไม่สามารถจัดหา LNG ระยะยาวได้ จึงต้องดำเนินการรอซื้อ Spot LNG ที่มีราคาสูง จนกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนแบกรับภาระอยู่ในเวลานี้

ที่ผ่านมาภาครัฐได้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ใช้ก๊าซสามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลได้ เพื่อแบ่งเบาภาระกาจัดหา LNG ที่มีราคาสูง และเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ถูกลง ซึ่งถ้าโรงไฟฟ้าเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลต้นทุนค่าไฟจะอยู่ที่ 5 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

แต่แทนที่จะยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เวลาปฏิบัติจริงกลายเป็นว่า “หนีเสือปะจระเข้”

เมื่อโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องการน้ำมันดีเซลมาเติมสำรองไว้ประมาณ 11 ล้านลิตรต่อวัน แต่ทาง โออาร์ มีข้อจำกัดเรื่องรถบรรทุกสำหรับใช้ขนส่งน้ำมันดีเซล ทำให้สามารถจัดส่งน้ำมันให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้เพียง  2 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งทำให้โรงไฟฟ้ามีความเสี่ยงขาดเชื้อเพลิงดีเซลในการเดินเครื่องทันที

ซำร้ายแหล่งก๊าซซอติก้าจากประเทศเมียนมาต้องหยุดซ่อมแซมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากปัญหารอยรั่วของท่อส่งก๊าซบนบก

ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าหลักๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือพลังงานน้ำ เกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นมา ทางโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG และน้ำมันดีเซลก็จะไม่สามารถเดินเครื่องทดแทนได้ เพราะไม่มีปริมาณสำรองเชื้อเพลิงไว้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เกิด “ไฟฟ้าดับ” ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยกับ “สำนักข่าวไทยมุง” ว่า ทุกประเทศทั่วโลกให้ความมั่นคงทางด้านด้านพลังงาน (Energy Security) เพราะพลังงานมีความสำคัญทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ยกตัวอย่างหลายประเทศแถบยุโรปได้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานช่วงเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพราะท่อส่งก๊าซจากรัสเซียเดิมสามารถส่งได้มากถึง 160 ล้านลูกบาศก์ฟุต ลดลงเหลือ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ขาดแคลนพลังงาน ธุรกิจหยุดชะงัก นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจตามมา

ในส่วนประเทศไทยตนยังไม่ได้รับรายงานว่าจะมีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก หล่อโลหะ เซรามิก แก้ว เป็นต้น ทำให้แบกรับภาระต้นทุนค่าไฟสูงขึ้นเป็น 7 บาทต่อหน่วย จากเดิม 6 บาทต่อหน่วย ท้ายที่สุดผู้ผลิตสินค้าก็ต้องปรับขึ้นราคาขายปลีกให้กับผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมาอีก

ด้านนายนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกกับ “สำนักข่าวไทยมุง” ว่า จากการพูดคุยก่อนหน้านี้กับนายอรรถพล ฤกษ์วิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ไม่มีปัญหาไฟฟ้าดับเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว  ทำให้ตนมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับช่วงนี้อย่างแน่นอน

จับตาตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม นี้เป็นต้นไป เสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์ “ไฟฟ้าดับ” เพราะปริมาณสำรองเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า “ขอดก้นถัง” เต็มที !! 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button