พลังงาน

“เชฟรอน” เปิดให้ยลโฉมครั้งแรก ศูนย์ควบคุมแท่นผลิตปิโตรเลียม IOC หนึ่งเดียวในภูมิภาค

การปรับองค์กรด้วยกลยุทธ์ Agile ของ “ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการปฏิบัติงานด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานและความปลอดภัย เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

หนึ่งในกลยุทธ์ดังกล่าวที่นำมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมนั่นคือ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต ที่เรียกว่า “Integrated Operations Center” หรือ IOC ขึ้นมาที่สำนักงานกรุงเทพฯ เพื่อทดแทนศูนย์การควบคุมและสั่งการที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมกลางกลางทะเล เพื่อยกระดับความปลอดภัย และประสานความร่วมมือในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มูลค่า 36 ล้านบาท

โอกาสนี้ “ชาทิตย์” ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์  IOC ที่สำนักงานกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในภูมิภาคที่มีการนำ Control room มาไว้ในภาคพื้นดินนอกจากประเทศ “คาซัคสถาน”

ระบบปฏิบัติการของ  IOC แห่งนี้ เป็นการนำศูนย์ควบคุมนอกชายฝั่งของแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยของเชฟรอนทั้ง 3 แห่ง คือ เบญจมาศ ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตซึ่งห่างออกไป 300 กิโลเมตรได้ โดยคนบนฝั่งสามารถทำงานร่วมกับพนักงานนอกชายฝั่งได้แบบตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

การสื่อสารและสั่งการระหว่างศูนย์ IOC กับแหล่งผลิตปิโตรเลียมทั้ง 3 แห่ง สามารถดำเนินการผ่านระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน แม้บางครั้งระบบไฟเบอร์ออฟติกที่ฝั่งสัตหีบอาจจะมีการล่มบ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหาส่งผลกระทบต่อการทำงานแต่อย่างใด เพราะยังมีแบ๊กอัพไฟเบอร์ออฟติกที่สงขลาไว้รองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

การทำงานของศูนย์ IOC จะแบ่งเป็นห้องควบคุมของแต่ละแหล่งปิโตรเลียม ที่หน้าจอมอนิเตอร์จะแสดงกำลังการผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแผนงานด้านโลจิสติกส์ งานส่งเรือ และการซ่อมบำรุงด้วย ซึ่งทั้งหมดจะมีการนำมาผสมผสานให้ลงตัวเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในทางตรงกันข้าม ถ้าจอมอนิเตอร์แสดงอะไรที่ผิดปกติ ทางผู้ควบคุมที่ห้อง IOC ก็สามารถตัดสินใจสั่งการได้เลยทันที

ส่วนกำลังคนที่ทำงานในห้องควบคุมมีทั้งหมด 9 คน พอๆ กับศูนย์ควบคุมกลางทะเล แบ่งเป็นห้องควบคุมแหล่งปิโตรเลียมไพลินเหนือ และไพลินใต้ 4 คน และแหล่งปิโตรเลียมเบญจมาส 5 คน การทำงานมี 2 กะ คือกลางวัน 9 คน พอถึง 6 โมงเย็นก็จะมีคนมาเปลี่ยนอีก 9 คน

วันทำงานและวันหยุดของพนักงานในห้องควบคุมมีให้เลือก 2 แบบ คือ ทำงาน 7 วัน หยุด 7 วัน กับทำงาน 3 สัปดาห์ หยุด 3 สัปดาห์ ซึ่งทุกคนจะต้องพักโรงแรมตามที่บริษัทเตรียมไว้เพื่อความปลอดภัยตามมาตรการป้องกันโควิด และที่สำคัญทุกคนยังได้รับเงินเดือนเท่าเดิมทุกประการ

“การสร้างศูนย์ IOC แห่งนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ เป้าหมายคือ การสร้าง One Team ถ้าเราดึง Operation Team จากเดิมอยู่แหล่งปิโตรเลียม มาทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ก็จะทำให้การร่วมงานกับทีมอื่นๆ ได้มีประสิทธิภาพ เราได้มองหาวิธีบูรณาการการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สุด ดีที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด และวางแผนการซ่อมบำรุงได้ดีที่สุด” ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอน กล่าวถึงหัวใจการสร้าง IOC แห่งนี้ขึ้นมา

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button