พลังงาน

“สุพัฒนพงษ์” เผย ครม. ไฟเขียวฟื้นคณะกรรมการฯ พัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา

“สุพัฒนพงษ์” เผย ครม. ไฟเขียวฟื้นคณะกรรมการฯ พัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ชี้หากเจรจาตกลงกันสำเร็จนำก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ได้ภายใน 10 ปี สามารถแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานของประเทศไทยได้

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติพลังงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพง โดยหลายฝ่ายเร่งรัฐบาลให้เจรจาเพื่อพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา อย่างเร่งด่วน เพราะหากสามารถร่วมมือกันสำเร็จจะช่วยให้ไทยมีเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ถูกกว่าการนำเข้าเป็นอย่างมาก ทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าที่ถูกลงตามไปด้วย

โดยเรื่องนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา New Energy : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน หัวข้อ “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย” จัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ตอนหนึ่งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติฟื้นคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) คาดว่าจะเริ่มหารือเร็วๆ นี้ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ก่อน และเชื่อว่ากระบวนการจากนี้ไปจะเร็วขึ้น เพราะทางประเทศไทยได้เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว ซึ่งถ้าหากตกลงกันได้คาดว่าจะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ภายใน 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีแนวโน้มจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  ถ้าหากเราทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

“ส่วนนี้อยากให้มั่นใจ เราทำทุกวิถีทาง ทำทุกวัน แม้จะคืบหน้าที่ละน้อย ก็ยังต้องทำ เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา  โดยทางกัมพูชาเองก็จะได้เชื้อเพลิง วันนี้ทุกคนพร้อมคุย อยากจะคุย  ทั้งฝ่ายเรา และเขา เพราะเหตุการณ์วิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้มีความจำเป็นในการพัฒนาทรัพยากรมีมากขึ้นจริงๆ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชาถือว่า เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงมาก มีก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงเหมือนที่ขุดพบในอ่าวไทย จากการศึกษาของบริษัทเอกชนพบว่า ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด 150,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่บล็อกที่ 10-14 เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงมาก โดยฝั่งไทยจะมีก๊าซธรรมชาติมากสุด ส่วนฝั่งกัมพูชาจะมีน้ำมันมากสุด

ทั้งนี้ หลังมีการเจรจากันสำเร็จนำไปสู่การสำรวจคาดว่า จะมีแท่นขุดเจาะมากกว่า 10 แท่นในระหว่างขั้นตอนการสำรวจ การค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครั้งนี้จะส่งผลต่อกิจกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ เช่น ปิโตรเคมี จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อภาคพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีก 10-15 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะสร้างได้มากกว่า 5 แสนล้านบาท นำไปแบ่งกัน1ระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และ OCA

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button