ประกันภัย

คปภ. คาดธุรกิจประกันภัยปี 66 เติบโต 8.9 แสนล้าน เผยผลิตภัณฑ์ดาวรุ่งและดาวร่วง แย้มทิศทางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ EV และไฮโดรเจน 

สำนักงาน คปภ. ส่องกล้องธุรกิจประกันภัยปี 2566 คาดเบี้ยเติบโต 8.9 แสนล้านบาท พุ่งเกือบ 2% เผยผลิตภัณฑ์ที่จะมาแรง “ประกันสะสมทรัพย์-สุขภาพ-รถยนต์” ฟันธง “ยูนิตลิงค์” มีแนวโน้มชะลอตัว พร้อมแย้มทิศทางเบี้ยกรมธรรม์ประกันรถยนต์ EV และรถยนต์ไฮโดรเจน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 Press Conference : Strategic Themes and Trend of Insurance Supervision in 2022 ตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยในปี 2565  คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ประมาณ  886,211 ล้านบาท เติบโตประมาณ 2.10% แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิตอยู่ประมาณ 614,917 ล้านบาท 1.18% สอดคล้องทางสมาคมประกันชีวิตไทยที่เคยประมาณการณ์ไว้สูงกว่าทาง สำนักงาน คปภ.นิดหน่อย ส่วนเบี้ยประกันวินาศภัยอยู่ประมาณ 271,293 ล้านบาท เติบโตไม่เกิน 4.25% ซึ่งมีตัวเลขต่ำกว่าทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่เคยประกาศไว้อยู่ที่ประมาณ 4.50%

สำหรับประมาณการณ์เบี้ยประกันภัยปี 2566 คาดว่าจะมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 894,600 ล้านบาท เติบโต 1.95% สาเหตุที่เติบโตไม่สูงมากเพราะว่าฐานของปี 2565 นั้นสูงอยู่แล้ว โดยผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมของประกันชีวิต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แบบสะสมทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เป็นแบบสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ส่วนประกันวินาศภัยที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งยังคงรักษาแชมป์ประกันภัยที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลส่งผลให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ซึ่งจะทำให้ประกันภัยการเดินทางเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย

“เบี้ยประกันสุขภาพเติบโตเป็นสิ่งสะท้อนว่าประชาชนหันมาใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงเบี้ยประกันเรือและขนส่งก็เติบโตเช่นกันจากการฟื้นตัวของการส่งออก รวมถึงเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์จะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเบี้ยประกันเดินทางที่หลายประเทศได้ผ่อนคลายการเดินทาง ส่วนเบี้ยประกันชีวิตควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของตลาดทุนผันผวน บวกกับความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ของประชาชนลดลง เนื่องจากว่าอัตราเงินเฟ้อ และหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนมีรายได้ลดลง”

นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทที่สำคัญเข้ามาวงการยานยนต์ของประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 20,000 คัน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาของรถยนต์ไฟฟ้าหลักๆ จะเป็นแบตเตอร์รี่ที่มีราคาแพง ทำให้บริษัทประกันภัยขายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเบี้ยรถยนต์ทั่วไป ซึ่งทางสำนักงาน คปภ.ได้พยายามแก้ปัญหาให้เบี้ยที่มีราคาถูกลง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าของประชาชนให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

“ทางสำนักงานคปภ.ได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการนำระบบเบี้ยประกันภัยให้ถูกลง เพื่อเกิดการจูงใจให้เวลาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วเกิดความอุ่นใจ ตรงนี้ทางสำนักงาน คปภ. ได้หารือกับภาคธุรกิจที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ผู้แทนจากคณะกรรมการยานยนต์ และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อแก้ปัญหาค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน บริษัทประกันภัยยังจะไม่ขึ้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าตัวเลขการเคลมรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปก็ตาม ในส่วนปี 2566 จะรวบรวมสถิติการรับประกันภัยรถยนต์ และศึกษารูปแบบการรับประกันภัยจากต่างประเทศได้ดำเนินการรับทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว เพื่อนำมาเป็นต้นแบบความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความเสี่ยงและการรับประกันภัยในประเทศไทย”

ส่วนการรับประกันภัยรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น ตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งก็คงให้เทคโนโลยีเดินหน้าไปก่อน เพื่อมีความเสถียรและได้รับความนิยมจากประชาขน หลังจากนั้นคาดว่าจะมีบริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์มาคุ้มครอง ซึ่งเป็นโมเดลเช่นเดียวกับทางประเทศจีนที่ดำเนินการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าก็ให้เทคโนโลยีเดินทางไปก่อน หลังจากนั้นค่อยมีกรมธรรม์ออกมาคุ้มครองในภายหลัง

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button