บทความ

 โอกาสพลังงานไทย กับ APEC 2022

ก่อนอื่นผู้เขียนขอสวัสดีทุกท่านที่กำลังอ่านบทความคอลัมน์ “ชวนคิด ชวนคุย” บนโลกออนไลน์เว็บไซต์สำนักข่าวไทยมุง (www.thaimungnews.com) นะครับ จากนี้ไปคงมีโอกาสได้มาบอกเล่าความคิด ความเห็นส่วนตัวที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนในงานต่างๆ กันบ่อยครั้งขึ้น เป็นมุมสบายๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชวนคิด ชวนคุยกัน ไม่ได้ซีเรียสอะไรจนเกินไปครับ

ในโอกาสที่ผู้เขียนสวมหมวกอีกใบในฐานะประธานชมรม News Club ต่อไปคงได้นัดจิบกาแฟกับพี่ๆ นักข่าวกันบ่อยครั้ง และเชิญ Guest Speaker มาร่วมพูดคุยกันในประเด็นที่น่าสนใจ คงจะมีเรื่องราวดีๆ มาบอกเล่าให้ชวนคิดกันมากขึ้นครับ

และถือโอกาสนี้เรียนเชิญทุกๆ ท่านมาล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อเป็นกุญแจดอกเล็กๆ  ในการไขปัญหา หาทางออกให้กับสังคมต่อไปครับ

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น เรามาพูดคุยกันถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นที่ประเทศไทยในเวลานี้ก่อนนะครับ กับโอกาสประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC SUMMIT 2022)

งานนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีของไทยเราที่จะเจรจาร่วมมือทางการค้า การลงทุนกับ 21 เขตเศรษฐกิจ และอีก 3 เขตเศรษฐกิจ ที่เป็นแขกพิเศษของท่านนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เชิญมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำเอเปก ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย และฝรั่งเศส ส่วนกัมพูชา เป็นที่แน่นอนแล้วว่าผู้นำท่านไม่ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้

ในมุมพลังงานภาคธุรกิจคงรู้สึกเสียดายโอกาสที่ทางผู้นำประเทศกัมพูชา ไม่ได้เดินทางมาร่วมเจรจาในกรอบทวีภาคีกับหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยด้วย เสียดายโอกาสความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างด้วย เชื่อว่าถ้ามีการเจรจากันสำเร็จจะเกิดผลดีในการแก้ปัญหาพลังงานราคาแพงในระยะยาวได้

แต่ยังโชคดีที่ซาอุดิอาระเบียผู้นำการส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้ตอบรับเป็นแขกพิเศษของประเทศไทยเราในการประชุมเอเปคครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีในการฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย ทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกลง

และมีข่าวดีจากรัฐบาลไทยได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานกับทางซาอุดิอาระเบียด้วย

น่าสนใจตรงที่ร่างบันทึกดังกล่าว ได้ระบุการจัดตั้งกรอบความร่วมมือพลังงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมด้านพลังงาน การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรผ่านการฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานเอาไว้ด้วย ถือเป็นข่าวดีกับประเทศไทย และภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะนำไปต่อยอดในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานพอดิบพอดี

มองไปที่ฝรั่งเศสที่กำลังประสบปัญหาด้านพลังงานอย่างหนักจากผลกระทบการเกิดสงครามยูเครนกับรัสเซีย ทำให้ต้องปรับทิศทางประเทศหันไปพึ่งพลังงานหมุนเวียนทดแทนการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ แม้แต่ดิสนีย์แลนด์ในกรุงปารีสยังต้องปรับตัวด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามากถึง 17 เมกะวัตต์

ภาพใหญ่ของประเทศฝรั่งเศสกำลังปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการดำเนินแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อมุ่งสู่ Net zero ในปี 2050 ในอนาคตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของฝรั่งเศสไปแล้ว ถึงเวลานั้นก็ไม่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอีกต่อไป

การหารือระดับทวิภาคีระหว่างผู้นำฝรั่งเศสกับผู้นำไทย เชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือทางการค้า การลงทุน รวมถึงด้านพลังงานสะอาด ที่ทั้งสองประเทศได้วางเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero เอาไว้แล้ว

เป็นข่าวดีๆ มุมสบายๆ เกี่ยวกับพลังงานที่ผู้เขียนอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ แล้วเรากลับมา “ชวนคุย ชวนคิด” กันใหม่โอกาสหน้านะครับ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button