พลังงาน

ปลดล็อค UAC ผุดโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก

ปลัดกระทรวงพลังงานแย้มแผนเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรก เตรียมเรียก UAC หารือฟื้นชีพโรงไฟฟ้าชีวภาพ จ. ขอนแก่น แต่มีข้อแม้ต้องเปิดทางให้ชุมชนเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย และใช้วัตถุดิบผสมผสานหลากหลายจากเกษตรกรตลอดทั้งปี เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับชุมชน

หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน) ที่จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน

โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศ และมีระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับไฟฟ้าที่จะผลิตจากชุมชน พร้อมกำหนดแนวทางการจัดตั้งให้ภาคไฟฟ้าของรัฐและเอกชนร่วมกับชุมชนร่วมมือกัน  ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC  ที่ จ.ขอนแก่น จำนวน 2 โรงๆ ละ 1.5 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบหญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามเงือนไขข้างต้น อีกทั้งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เท่านั้น

ความคืบหน้าล่าสุดนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะเรียกทาง บริษัท ยูเอซี โกลบอลฯ เข้ามาหารือเพื่อเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ที่ จ.ขอนแก่น ให้สามารถขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐได้ แต่ทางบริษัทจะต้องรับเงื่อนไขให้ชุมชนเข้าไปถือหุ้นได้ ส่วนจะถือในสัดส่วนเท่าไหร่ จะตั้งเป็นสหกรณ์ หรือกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นนิติบุคคลเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าก็ต้องรอการพูดคุยกันก่อน

นอกจากนี้ เดิมวัตถุดิบที่จะนำมาป้อนโรงไฟฟ้าเป็นหญ้าเนเปียร์ ซึ่งต่อไปจะต้องพิจารณาไม้โตเร็ว หรือพืชพลังงานประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชนสามารถนำมาเข้ามาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าได้เพียงพอตลอดทั้งปีด้วย

“ส่วนค่าไฟฟ้าถ้าบริษัทต้องการเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบ FIT ที่มีอัตรามากกว่า 4.24 บาทต่อหน่วย ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ต้องรับไปพิจารณาเพิ่มให้ เพราะค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทางบริษัทก็นำมาจ่ายให้กับชุมชน เนื่องจากโรงไฟฟ้าเป็นของชุมชน วัตถุดิบจะนำไปขายให้ที่อื่นก็ไม่ได้เช่นกัน”

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวอีกว่า จะมีการเรียกประชุมร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กกพ. เพื่อพิจารณานำโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีอยู่แล้วต่อเชื่อมกับระบบสายส่งเพื่อซื้อขายไฟฟ้าเป็นโครงการนำร่อง โดยโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนที่อยากได้จะต้องมีวัตถุดิบในชุมชนเพียงพอตลอดปี อาจจะมีการใช้เชื้อเพลิงหลายๆ ประเภทรวมก็ได้ เช่น ซังข้าวโพด หญ้าเนเปียร์ ขี้หมู หรือไม้โตเร็ว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน

ทั้งนี้ เบื้องต้นโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้นนำร่อง 3 แห่ง กระจายอยู่ตามพื้นที่ภาคอีสาน เหนือ และใต้ พื้นที่ละ 1 แห่ง โดยภาคอีสานจะใช้โรงไฟฟ้าของ UAC ภาคใต้ใช้วัตถุดิบจากทลายปาล์มมาป้อนโรงไฟฟ้า แต่ยังไม่สามารถระบุพื้นที่ได้เช่นเดียวกับทางภาคเหนือ

นอกจากนี้ ในโอกาสที่ตนจะเข้าไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ กฟผ. ก็จะผลักดันกฟผ. เข้าไปทำโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก จำนวน 1 เมกะวัตต์ เพราะที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดการเผาซังข้าวโพดที่ทำให้เกิด PM 2.5  และใช้วัตถุดิบที่มีศักยภาพในพื้นที่ด้วย

 

 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button