คมนาคม

ลุ้น ครม. ไฟเขียวลงทุนทางด่วน “ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี” มูลค่า 3.3 หมื่นล้าน เดือน ก.พ. นี้

กทพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนสองฟากฝั่งทางพิเศษ “ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี” ก่อนลุ้น ครม. เห็นชอบในเดือนก.พ.นี้ เพื่อเดินหน้าลุยก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี หลังจากล่าช้ามานานนับ 10 ปี ผู้ว่าฯ กทพ. เผยฐานะการเงินการทางฯ แข็งแกร่งพร้อมควักกระเป๋าลงทุนเองทั้งโครงการ แถมปรับปรุงหลักเกณฑ์การเวนคืนให้ทันสมัยและเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน จำนวน 850 แปลง ระบุเปิดให้ประชาชนสองข้างทางใช้สัญจรไปมาได้สะดวกผ่าน “ถนนเลียบทางด่วน” พร้อมผุด Service Area ที่พักระหว่างการเดินทาง บนเนื้อที่ 69 ไร่ เอาไว้บริการประชาชนด้วย

 

โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ที่ล่าช้ามาเกือบ 10 ปี จากการปรับแนวเส้นทางเพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนตามแนวเส้นทาง และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนให้มากที่สุด โดยล่าสุดได้ปรับแนวเส้นทางโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ใหม่เรียบร้อยแล้ว มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติมุ่งไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครจะวันออก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9 หรือถนนกาญจนาภิเษก) ถนนหทัยราษฏร์ ถนนนิมิตใหม่ ถนนคลองเก้า เพื่อเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรองนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3  (MR 10) ที่บริเวณคลองสิบ เขตหนองจอก และเลี้ยวไปทาทิศเหนือเพื่อเชื่อมต่อถนนลำลูกกา ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณคลองหกวาสายล่าง ระยะทางรวม 19.5 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นระยะทางของแนวสายหลักประมาณ 15.75 กิโลเมตร และเป็นระยะทางของทางขึ้น-ลง ที่เชื่อต่อกับถนนลำลูกกา ประมาณ 3.50 กิโลเมตร

ความพิเศษของโครงการทางพิเศษสายนี้จะมี Service Road หรือถนนเลียบทางด่วนสำหรับเปิดให้ประชาชนสองข้างทางใช้สัญจรไปมาได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงมีการปรับการออกแบบความเร็วใหม่ให้รถใช้ทางพิเศษสายนี้สามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่ออกแบบไว้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ จุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อ MR 10 ที่บริเวณแขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร สามารถเชื่อมต่อโครงการ MR 6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน)-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ของ ทล.ได้ในอนาคตด้วย

สำหรับแนวทางสายโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ตัดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 เขต 1 อำเภอ 4 แขวง 2 ตำบล ประกอบด้วย แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตระวันออก แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ตำบลลำลูกกา และตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) มีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เป็นประธาน ซึ่งมีการนำเสนอผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยมีประชาชนที่อาศัยตามแนวเส้นทางให้ความสนใจจำนวนมาก ณ ห้องประชุมอารียา โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.

โดยนายสุรเชษฐ์  เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ กทพ. และกรมทางหลวง (ทล.) บูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี และโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ซึ่งมีแผนการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพทั้งโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายทางพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม กทพ. จึงได้ดำเนินงานศึกษาโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) โดยการดำเนินการโครงการในครั้งนี้ กทพ. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินงานจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) โดยเริ่มการศึกษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่ง กทพ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565

นอกจากนี้ ยังได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 10 เวที ครอบคลุมตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ซึ่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ กทพ. จะนำไปพิจารณาและนำไปสู่การวางแผนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม และในขณะนี้ การศึกษาอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างรายงานฯ และร่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดให้มีการประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อโครงการฯ เพื่อให้การพัฒนาโครงการฯ สามารถดำเนินไปควบคู่กับความใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

“ในวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) หลังจากนั้นจะได้นำเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม. ต่อไป ตามแผนงานถ้าหาก ครม. อนุมัติโครงการภายในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ ก็จะเริ่มก่อสร้างได้กลางปีนี้ทันที่ เพราะแบบก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3 ปี” ผู้ว่าการ กทพ. กล่าว

นายสุรเชษฐ์  กล่าวด้วยว่า รูปแบบการลงทุนโครงการทางพิเศษสายนี้ กทพ. จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนโครงการทั้งหมด โดยใช้เงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทย (TFF) และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือ EIRR สูงถึง 19.57% เนื่องจากเส้นทางนี้สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือได้เป็นอย่างดี เพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ หรือมีระบบรถไฟฟ้าให้บริการถึงแค่คลอง 5 เท่านั้น

สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 33,400 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างอยู่ที่ 26,100 ล้านบาท และ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,300 ล้านบาท โดยแปลงที่ดินที่จะถูกเวนคืนมีจำนวน 850 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 950-12-16.4 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างจำนวน 190 หลัง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะได้รับค่าทดแทนทรัพย์สินต่างๆ ที่สูญเสียจากากรพัฒนาโครงการอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม

“การทางพิเศษฯ เราได้มีกระบวนเวนคืนที่ดินตามกฎหมายที่ชัดเจน และมีการปรับปรุงกฏเกณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นธรรมมากขึ้น หมายความว่า ยิ่งทำประชาชนยิ่งพอใจ” ผู้ว่าการ กทพ. กล่าว

ส่วนอัตราค่าผ่านทางกำหนดค่าผ่านทางแรกเข้าอยู่ที่ 20 บาท เก็บเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 1.25 บาทต่อกิโลเมตร สำหรับรถยนต์ 4 ล้อจะเก็บอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 25-45 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จะเก็บอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 55-85 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ เก็บอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 80-130 บาท และจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางทุก 5 ปี โดยระบบจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการเป็นระบบปิด ซึ่งมีความเหมาะสมกับรูปแบบของโครงการทางพิเศษที่เป็นทางพิเศษระหว่างเมือง โดยระบบเก็บค่าผ่านทางของโครงการนี้คือ ระบบ M-Flow ซึ่งเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free-Flow  และใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ Video Tolling แทนการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม้กั้น ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถขับขี่ผ่านด่านฯ โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถสามารถรองรับปริมาณรถได้ 2,000-2,500 คันต่อชั่วโมงต่อช่องทาง หรือเร็วกว่าระบบเดิมที่ใช้อยู่ถึง 5 เท่า

นอกจากนี้ โครงการทางพิเศษสายนี้ยังมีพื้นที่ให้บริการทางพิเศษ (Service Area) ตั้งอยู่บริเวณ กม.11-040 ถึง กม. 13+600 ใกล้กับคลองเก้า มีพื้นที่ให้บริการประมาณ 69-35 ไร่ ประกอบด้วย สำนักงานของ กทพ. เพื่อให้บริการประชาชน พื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ พื้นที่จอดรถขนาดเล็ก อาคารสถานีตำรวจและกู้ภัย ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า เป็นต้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button