พลังงาน

GC ประกาศปี 66 เดินหน้าทุ่มลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท  ชี้ “อะโรเมติกส์” สดใสรับธุรกิจ “ยานยนต์-บรรจุภัณฑ์-สิ่งทอ-ก่อสร้าง” ฟื้นตัว 

GC ประกาศทิศทางการดำเนินงานปี 66 ทุ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลงทุนธุรกิจหลักและวางโรดแม็ปมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2573 เผยผลิตภัณฑ์ “อะโรเมติกส์” มีสัญญาณสดใสจากธุรกิจยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ ส่องทอ และก่อสร้างฟื้นตัว ตั้งเป้าหมาย EBITDA ช่วงปี 2566-2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 4%

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า ปี 2566 คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าปี  2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากประเทศจีนมีการเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอะโรเมติกส์ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลายมีความต้องการในตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์มีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงตลาดในยุโรปจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงไตราส 2 สินค้าบรรจุภัณฑ์ยังดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา สิ่งทอเริ่มเห็นโอกาสขยายตัวแล้วจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และธุรกิจก่อสร้างก็จะเริ่มดีขึ้นทั่วโลก 

“ปี 2566 GC คาดว่าปริมาณผลผลิตจะเติบโตประมาณ 15% จากปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าหมายการเติบโต EBITDA ในช่วงปี 2566-2573 ไว้ที่เฉลี่ยปีละ 4%” 

ดร.คงกระพันกล่าวด้วยว่า  ในปี 2566 บริษัท ได้ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า  10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการต่อเนื่องที่เป็นธุรกิจหลัก และแบ่งเป็นการลงทุนโครงการสำหรับมุ่งไปสู่การปล่อยดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2573 หรือ Net-Zero Emmissions ปี ค.ศ. 2050 จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยการลดการปลดปล่อยคาร์บอนมีแผนการดำเนินงาน Roadmap เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอน ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ Efficiency-driven การดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหลากหลายโครงการ เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงาน โครงการ Maptaphut Integration (MTPi) โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

Portfolio-driven การเดินหน้าปรับสัดส่วนธุรกิจมุ่งสู่ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยการลงทุนในธุรกิจกลุ่ม High Value Business (HVB) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy (Leverage Synergy) ให้เกิดมูลค่าสูงสุดจากธุรกิจ ตลาด และเทคโนโลยี เช่น allnex ที่ GC ได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้ Megatrends 

และ Compensation-driven การดำเนินโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศของป่าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมรวมถึงชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 บนพื้นที่รวมกว่า 2,500 ไร่ อาทิ โครงการปลูกป่านิเวศระยองวนารมย์ จำนวน 80 ไร่ ตามหลักการ Eco Forest และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ

สำหรับวามก้าวหน้าโครงการในปี 2566 ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ซึ่งจะทำให้โรง โอเลฟินส์หน่วยที่ 2 สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ GC ในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว คาดว่าเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566 โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนสายการผลิตที่ 4 (HMC PP Line 4) ของบริษัท HMC Polymers กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อธันวาคม 2565 

โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติก PLA แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ของบริษัท NatureWorks ที่จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ GC ร่วมทุนกับ บริษัท Kuraray และ บริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566 เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก

กลยุทธ์การแสวงหาโอกาสต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ allnex เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ โดยการปรับองค์กรตั้งหน่วยงานธุรกิจต่างประเทศขึ้น เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้เมกะเทรนด์โลก และเตรียมสร้าง Thailand Innovation Hub ที่จะเป็นศูนย์วิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยให้กับ allnex เพื่อการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย

ดร.คงกระพัน กล่าวถึงการดำเนินงานปี 2565 มีรายได้จากการขายรวมกว่า 678,267 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 ในปี 2565 GC มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ผลขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน ผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง รายการพิเศษอื่นๆ) ในปีนี้อยู่ที่ 18,984 ล้านบาท

นอกจากนี้ GC ยังประสบความสำเร็จด้านการเงิน โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาท จำนวนรวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในเดือนมกราคม 2565 หุ้นกู้สกุลเงินหรียญสหรัฐฯ จำนวน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2565 ออกและจำหน่ายหุ้นกู้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) มูลค่ารวม 17,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2565 ลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ จำนวน 27,000 ล้านบาท ในเดือนกันยายาม 2565และเงินกู้ระยะยาว แบบ Sustainability-Linked Loan เป็นครั้งแรกของ GC วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้สนับสนุนการดำเนินการด้านความยั่งยืนของ GC โดยในส่วนของหุ้นกู้สกุลเงินหรียญสหรัฐฯ จำนวน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ เงินกู้ระยะยาว แบบ Sustainability-Linked Loan ในปีนี้บริษัทฯได้รับรางวัลจากนิตยสาร The Asset ในส่วนของ The Asset Triple A Country Awards for Sustainable Finance 2022 

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button