พลังงาน

“เอ็กโก กรุ๊ป” สอบผ่านวิกฤตราคาเชื้อเพลิง ทำกำไรจากการดำเนินงาน 11,797 ล้านบาท

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ฝ่าด่านวิกฤตราคาพลังงานโลก ปิดบัญชีปี 2565 รับรู้รายได้รวม 65,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% มีกำไรจากการดำเนินงาน 11,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 2,683 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 บอร์ดไฟเขียวนำเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาปันผลครึ่งปีหลัง 3.25 บาท/หุ้น รวมปันผลทั้งปี 6.50 บาท/หุ้น ตอกย้ำพื้นฐานธุรกิจมั่นคงและนโยบายจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “ในปี 2565 อุตสาหกรรมไฟฟ้า และพลังงานต้องเผชิญกับความท้าทายจากราคาพลังงานโลกและภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดประเทศทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ผลประกอบการในปี 2565 ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงานปี 2565 ได้ดี ทำให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงและภาวะเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ รายได้และกำไรจากการดำเนินงานยังคงขยายตัวได้ดี ในขณะเดียวกันยังสามารถขยายการลงทุนในพลังงานสะอาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”

ไฮไลท์ทางธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ในปี 2565 ได้แก่ การเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว กำลังผลิตรวม 650 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นเพิ่ม 10% เพื่อถือหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้า “ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม” และ “เทพพนา วินด์ฟาร์ม” จ.ชัยภูมิ การซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้า “ไรเซ็ก” สหรัฐอเมริกา กำลังผลิตรวม 609 เมกะวัตต์ และการขายหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้า “สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่” อินโดนีเซีย นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ ลงนาม MOU ศึกษาและพัฒนาแผนงานด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้ในโรงไฟฟ้าของเอ็กโก กรุ๊ป

สำหรับผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวม 65,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% และมีกำไรจากการดำเนินงาน 11,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้า “พาจู อีเอส” เกาหลีใต้ “ไซยะบุรี” สปป.ลาว “ซานบัวนาเวนทูรา” ฟิลิปปินส์ “ขนอม” จ.นครศรีธรรมราช และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ

ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 2,683 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุมาจากการรับรู้การด้อยค่าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยและโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ และรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ ได้แก่ การรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนของโรงไฟฟ้า “สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่” และการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการ “หยุนหลิน”

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button