บทความ

“Silicon Valley Bank” ล้มละลายของกระทบราคาหุ้นแบงก์ทั่วโลก ผู้ฝากเงิน นักลงทุนเริ่มหวั่นไหว จับตา “เฟด” อาจทบทวนไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงซ้ำเติม ระวังแห่ถอนเงินฝากแบบสหรัฐฯ

“Silicon Valley Bank” ล้มละลาย กระทบอะไรบ้าง จะเกิดอะไรขึ้นกับไทยคม มาดู “รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ชัดๆ กัน

Silicon Valley Bank” ล้มละลาย กระทบราคาหุ้นแบงก์ทั่วโลก แต่ยังไม่เกิดความเสี่ยงเชิงระบบรุนแรงขณะนี้ สถานการณ์ไม่เหมือนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2008 แต่ผู้ฝากเงิน นักลงทุนเริ่มหวั่นไหว คาดกระทบการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทคช่วงสั้น ธนาคารกลางสหรัฐอาจทบทวนไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงซ้ำเติม ดอกเบี้ยสูงกดดันมูลค่าพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่สถาบันการเงินถืออยู่ กระทบความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน แม้นสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง แต่สถาบันประกันเงินฝากของไทยควรเตรียมความพร้อมและเข้าแทรกแซงทันที หากเกิดกรณีแห่ถอนเงินฝากแบบสหรัฐฯ เพื่อหยุดปัญหาลุกลามต่อระบบการเงินโดยรวมได้ทันท่วงที

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การล้มละลายของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุน สถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ ธนาคารแห่งนี้เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ให้กับบรรดาบริษัทไฮเทคสตาร์ทอัพ การล้มละลายของธนาคาร SVB สะท้อนปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจไฮเทคสตาร์ทอัพและปัญหาการขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนในตลาดพันธบัตรของสถาบันการเงินในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น มีการถือพันธบัตรระยะยาวจำนวนมาก ตราสารเหล่ามูลค่าลดลงอย่างมากอันเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟด การบริหารความเสี่ยงล้มเหลวเมื่อตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ผันผวนมากภายใต้ภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้น และไม่สามารถมีสภาพคล่องมากพอให้กับผู้ฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากหลายประเทศอัตราเงินเฟ้อยังควบคุมไม่ได้ อย่างสหรัฐอเมริกา ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังขยายดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม การล้มละลายของธนาคาร SVB อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ลังเลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงๆ การล้มลงของธนาคาร SVB ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินขนาดใหญ่เหมือนปี 2008 แต่ก็มีผลกระทบราคาหุ้นแบงก์ทั่วโลกและยังไม่น่าเกิดความเสี่ยงเชิงระบบรุนแรงขณะนี้ สถานการณ์ไม่เหมือนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2008 เฟดอาจทบทวนไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงซ้ำเติม และอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.50% ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคม ศกนี้ หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงไปจะกดดันตลาดหุ้น มูลค่าพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่สถาบันการเงินถืออยู่มากเกินไป กระทบความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน กรณีการเกิดแห่ถอนเงินฝาก (Bank Run) ออกจากธนาคาร SVB จนกระทั่งแบงก์เกิดขาดสภาพคล่อง หากไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงทีโดยการเข้าแทรกแซงของสถาบันประกันเงินฝากของทางการสหรัฐอเมริกา (Federal Deposit Insurance Corporation – FDIC) ปัญหาอาจลุกลามจนเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินทั้งระบบได้แม้นไม่รุนแรงเท่าปี ค.ศ. 2008 ก็ตาม คาดกระทบการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทคช่วงสั้น เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สถาบันการเงินของไทยนั้นมีความแข็งแกร่ง แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency – DPA) ของไทยควรเตรียมความพร้อมและเข้าแทรกแซงทันทีหากเกิดกรณีแห่ถอนเงินฝากแบบสหรัฐฯ เพื่อหยุดปัญหาลุกลามต่อระบบการเงินโดยรวมได้ทันท่วงทีเช่นเดียวกับการดำเนินงานของสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ (FDIC) ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ คือ ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรการเข้มงวดเพื่อคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางในหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลของชาติต่างๆ ก็จำเป็นต้องออกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เพิ่มภาระทางการคลังอย่างมากโดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว จากข้อมูลของ IMF ระบุ ปัจจุบัน 60% ของประเทศที่มีรายได้น้อยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะได้ ขณะที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง มีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มสูงหากยังมีการใช้มาตรการประชานิยมโดยไม่ระมัดระวังเรื่องวินัยทางการเงินการคลัง และไม่ระบุแหล่งรายได้ให้ชัดเจนว่าจะนำรายได้ภาษีส่วนไหนหรือเกลี่ยงบตรงไหนมาสนับสนุน ควรทยอยถอนมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน การแจกเงินเพื่อช่วยการบริโภคและการท่องเที่ยว โดยควรเพิ่มนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน การไม่ทบทวนมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานซึ่งทำให้เกิด

ปัญหาภาระทางการคลังและปัญหาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มาตรการดังกล่าวยังไม่ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก กระตุ้นการลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียนและทางเลือก สะสมปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศต่อไป

ดร. อนุสรณ์  กล่าวต่อว่า ไทยไม่มีปัญหาเรื่องอาหารแพงเนื่องจากเป็นประเทศผลิตอาหารส่งออก แต่ค่าพลังงานยังแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง หากเกิดวิกฤติการล้มละลายและขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินลุกลามในสหรัฐอเมริกา ปัญหาหนี้สาธารณะปะทุขึ้นในละตินอเมริกาหรือยุโรปบางประเทศ รวมทั้งเงินเฟ้อชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ทิศทางการบริหารนโยบายการเงินควรต้องปรับให้รับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้

มองว่า แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 29 มีนาคม ศกนี้แล้ว เนื่องจากอัตราเงินฟ้อไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ส่งออกชะลอตัวแรง กำลังการผลิตส่วนเกินยังเหลืออยู่จำนวนมาก จึงไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ในภาคการผลิต แม้นการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ไม่ได้มีผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9-5.0% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้อีก และ สถาบันการเงินในไทยและเอเชียตะวันออกยังคงมีฐานะการเงินแข็งแกร่งสามารถรองรับกรณีการล้มละลายของธนาคาร SVB ได้

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button