EEC/SME

“อีอีซี” นำทัพสื่อลงพื้นที่ โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์-วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ -มทร. ตะวันออกฯ ชมการเชื่อมประโยชน์ลงทุนพัฒนาชุมชนและการผลิตบุคลากรป้อนเมืองการบิน

“อีอีซี” นำทัพสื่อลงพื้นที่ โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และมทร. ตะวันออกวิทยาเขตบางพระ ชมการเชื่อมประโยชน์ลงทุนพัฒนาชุมชน การดูแลสิ่งแวดล้อม เตรียมผลักดันการท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา พร้อมเดินหน้าอีอีซีโมเดลเข้มข้น สร้างคนตรงกับงานดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง

ในช่วงระหว่างวันที่ 14–15 ธันวาคม 2566 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานในอีอีซี ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์ ซึ่งเป็น 1 ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซี การเยี่ยมชมแนวคิดวิถีการท่องเที่ยวชุมชน อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และการติดตามผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศการลงทุน ด้านการเตรียมบุคลากรทักษะสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายนวัตกรรมขั้นสูงเข้าสู่พื้นที่อีอีซี ได้อย่างต่อเนื่อง

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเชื่อมประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซี ที่ได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ให้ชุมชน โดยโรงงานที่บ้านโพธิ์แห่งนี้ ได้สร้างการลงทุนเพื่อความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับผลักดันคลัสเตอร์ลงทุน BCG ของอีอีซี เช่น ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co Generation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดการใช้พลังงาน ออกแบบระบบจ่ายพลังงานแบบรวมศูนย์ (Centralized) สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 8,500 ตันต่อปี อีกทั้งได้ต่อยอดลงทุนเพื่อยกระดับชุมชน อาทิ การสนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค บริโภค มีพื้นที่ปลูกป่าในโรงงานกว่า 60 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตบ้านโพธิ์ ถือเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมฯ สำคัญ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นรากฐานของผู้ประกอบการในการมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์อีวีในประเทศ สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ใน Supply Chain ของรถยนต์อีวี และผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโลก ผลักดันให้อีอีซี ก้าวสู่ศูนย์กลางลงทุนยานยนต์อีวีแห่งภูมิภาค

นอกจากนี้ อีอีซี ได้นำสื่อมวลชน ติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาบุคลากรทักษะสูง ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาที่พัฒนาหลักสูตร อีอีซี โมเดล Type A ที่ได้ผลิตบุคลากรร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ร่วมมือกับ BMW Ford และ E@ อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ Senior Aero Space

บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลิตบุคลากร ร่วมกับกลุ่มโรงแรมแอมบาสเดอร์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมกับ Mitsubishi Electric กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์จับคู่กับบริษัท TKK และ TBKK เป็นต้น โดยการดำเนินงานที่สำคัญ พบว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาได้ทำงานกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว รวมประมาณ 470 คน ได้งานที่ตรงความต้องการและมีรายได้ทันทีหลังการเรียนจบ

รวมไปถึงการเยี่ยมชม ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านเมคคาทรอนิกส์ หรือ ENMEC (EEC Networking of Mechatronics Excellence Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก  (วิทยาเขตบางพระ) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งศูนย์ ฯ ENMEC แห่งนี้ ได้เน้นหลักสูตรการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และระบบการผลิตอัจฉริยะ เพื่อให้นักศึกษา หรือผู้ที่เข้ารับฝึกอบรมระยะสั้นตาม อีอีซี โมเดล Type B สามารถมีทักษะรองรับการผลิตในโรงงานที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง และเป็นเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาบุคลากรสำหรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี พบว่า ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ทำงานร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ อีอีซี โมเดล ซึ่งพบว่า เกิดการผลิตบุคลากรแล้วกว่า 54,573 คน โดยในปี 2567 จะสามารถผลิตบุคลากรได้เพิ่มขึ้น 76,573 คน จากเป้าหมายความต้องการบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ประมาณ 475,668 คน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button