การเงิน

ปี 2567 ดอกเบี้ยนโยบายอาจลดได้อย่างน้อย 0.50%

ดอกเบี้ยนโยบายอาจลดได้อย่างน้อย 0.50% ในปี 2567 หากเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 1% แนะใช้ Rule-based stabilization เงินเฟ้อในไทยไม่น่าห่วง เศรษฐกิจขยายตัวอาจต่ำเป้าหากมาตรการกระตุ้นทางการคลังถูกหักล้างจากดอกเบี้ยสูง ช่องว่างผลผลิตยังสูง หนี้ท่วม มาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายควบคู่จำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน          

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ดอกเบี้ยนโยบายอาจลดได้อย่างน้อย 0.50% ในปี พ.ศ. 2567 หากเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 1% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชน และ รัฐบาลในตลาดการเงินลดลง ความเสี่ยงของสภาพคล่องของบริษัทที่มีโครงสร้างการเงินอ่อนแอปรับตัวดีขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนบรรเทาลง การผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนลดลง การถูกยึดบ้านยึดรถยนตร์และการล้มหรือปิดกิจการลดน้อยลง โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย 1% นั้นมีความเป็นไปได้สูงหากไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาในตะวันออกกลางแล้วทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้น อุปสงค์มวลรวมในประเทศยังกระเตื้องขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีสัญญาณของภาวะอุปสงค์ร้อนแรงแต่อย่างใด ขณะที่ จีนได้ใช้มาตรการทุ่มตลาดขายสินค้าราคาถูกออกมาในตลาดโลก กดดันให้ราคาสินค้าหลายชนิดต่ำลงกว่าปรกติ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ภัยแล้งรุนแรงจะทำให้กำลังซื้อในชนบทภาคเกษตรกรรมอ่อนแอลง ผลกระทบจากภัยแล้งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารราคาแพงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นผลจากการฝั่งอุปทานหรือภาคผลิตชะงักงัน เงินเฟ้อจึงไม่สามารถบรรเทาได้โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการลดปริมาณเงินในระบบ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี พ.ศ. 2567 จะอยู่ที่ระดับ -0.3-1.7% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี พ.ศ. 2566 สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเพียง 1.23% หากอัตราเงินเฟ้อจริงๆปรากฏออกมาต่ำมากหรือติดลบในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ย่อมเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยต่ำที่สุดในอาเซียน

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ตลาดตราหนี้หุ้นกู้อาจจะเผชิญความเสี่ยงที่บริษัทจำนวนหนึ่งไม่สามารถชำหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ และ ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการไม่สามารถ Rollover หนี้ได้ ในปีนี้ จะเป็นปีวิกฤติของบริษัทเอกชนที่มีสัดส่วนหนี้สูงเมื่อเทียบกับทุน หรือ ลงทุนเกินตัว การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาจะช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติลงได้บ้าง หากพิจารณาดู ปัญหาหนี้สินคงค้างในตลาดตราสารหนี้ไทยปีที่แล้ว มีมูลค่าคงค้างประมาณ 15.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 7.8 ล้านล้านบาท หุ้นกู้เอกชน 4.5 ล้านล้านบาท และอื่นๆ  3.5 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนมาตรการหรือนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในปีนี้ ขณะที่บริษัทที่มีหนี้สินสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับทุน และ มีความต้องการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อ Rollover หนี้เดิม อาจมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดการเงินมากขึ้นการระดมทุนกู้เงินของรัฐบาลในระบบจะไปแย่งเม็ดเงินภาคเอกชนได้

อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เพิ่มปริมาณเงินในระบบ ลดอัตราดอกเบี้ย ปัญหาการ Rollover หนี้เดิมจะบรรเทา  อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงทรงตัวในระดับสูง ผลตอบแทนแท้จริงจากการฝากเงินธนาคารเริ่มเป็นบวกและรายได้แท้จริงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราเงินเฟ้อต่ำลงและติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน แต่เศรษฐกิจยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด (Deflation) เพราะเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกอยู่ แต่อยู่ในภาวะเงินเฟ้อลดต่ำลงมาก (Disinflation)  การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น จะต้องดำเนินการในลักษณะ “กฎ” (Rule-based Stabilization Policy) มากกว่าการใช้วิจารณาญาณ (Discretionary Policy) หมายความว่า ผู้ทำนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงเป้าหมายของนโยบาย โดยการตั้งเป้าหมายชัดเจน และระบุถึงเครื่องมือของการทำนโยบายด้วย เนื่องจากสามารถส่งผ่านผลของการทำนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการคาดการณ์ของภาคเอกชน ภาคการผลิต ภาคการลงทุนและภาคครัวเรือน ข้อได้เปรียบของนโยบายการเงินเมื่อเทียบกับนโยบายการคลังหรือนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ คือ มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับตามพลวัตเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น

เครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้นโยบายการเงินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เป็นเครื่องมือและกลไกส่งผ่านไปยังระบบสถาบันการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อพื้นฐานให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยไม่ไปรบกวน หรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับรายได้ หนี้สินเทียบกับผลผลิตในทุกระดับของระบบเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับสูง ทั้งภาคครัวเรือน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาการ Rollover หนี้ในตลาดหุ้นกู้ความเสี่ยงสูง คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินควรเริ่มพิจารณาว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันหรือไม่ เศรษฐกิจขยายตัวอาจต่ำเป้าหากมาตรการกระตุ้นทางการคลังถูกหักล้างจากดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างประเทศสอดคล้องกับลักษณะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคต่างประเทศสูง อัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากราคาพลังงานในตลาดโลกลดลง และ อัตราการขยายตัวของการนำเข้าของประเทศคู่ค้าหลักลดลง การที่ค่าเงินบาททำหน้าที่เป็นตัวรองรับผลกระทบจากภายนอก หรือ เป็น shock absorber ได้ดีในระดับหนึ่ง จึงควรปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามพลวัตของปัจจัยภายในภายนอก จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย พิม มโนพิโมกษ์ นุวัติ หนูขวัญ เจตวัฒน์ ภัทรรังรอง พบว่า ค่าเงินบาทถูกขับเคลื่อนจาก non-fundamental shock เป็นสำคัญ โดยอาจเกิดจากการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงของ risk sentiment ของนักลงทุน ที่อาจสืบเนื่องมาจากการปรับมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของไทยหรือประเทศคู่ค้าจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด non-fundamental shock สามารถอธิบายความผันผวนของค่าเงินบาทได้สูงถึง 63%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเองก็ถือว่ามีบทบาทในการกำหนดค่าเงินบาทอยู่ไม่น้อยที่ 37% โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานในประเทศ 19% และปัจจัยพื้นฐานจากต่างประเทศ 18% ทั้งนี้ shock ที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เกินครึ่งมาจากปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ขณะที่ shock ที่มาจากปัจจัยพื้นฐานต่างประเทศนั้น มาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นจาก shock ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานกลับส่งผลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยน้อยมาก โดยสามารถอธิบายความผันผวนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยได้เพียง 3% และ 1% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสถาบันป๋วยยังพบอีกว่า เมื่อเกิด non-fundamental shock ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.11% ในขณะที่เงินเฟ้อปรับลดลงเพียง 0.034% ภายในเวลา 1 ปี 6 เดือน ซึ่งผลกระทบที่ค่อนข้างน้อยนี้ทำให้ความผันผวนของค่าเงินบาทจาก non-fundamental shock ไม่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยนัก

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกต่อว่า จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติล่าสุด พบว่า หนี้บ้านมีปัญหาผ่อนไม่ไหว ค้างค่างวดพุ่งกว่า 37% แนวโน้มยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านอาจเพิ่มขึ้น 60% ประชากรไทยประมาณไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนมีภาระหนี้สินรุนแรงขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นจากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจำเป็น มูลค่าหนี้สินเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ 2 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย ไม่ใช่การก่อหนี้เพื่อการลงทุน แต่เป็นสภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง กู้มาเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ฉะนั้น การที่มีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำมาหลายปีต่อเนื่องไม่ใช่สาเหตุหลักในการกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ สัดส่วนการเป็นหนี้ของภาคครัวเรือนไทยสูงเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำสูง 20% ของไทยเป็นหนี้ในเครดิตบูโรที่มีความเสี่ยงเป็นหนี้เสีย บัญชีหนี้เพื่อการลงทุนทางธุรกิจและสินเชื่อบ้านคิดเป็นเพียง 4% สะท้อนอนาคตปัญหากับดักหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจและภาคการเงินไทยหากดอกเบี้ยขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและยังมีช่องว่างผลผลิต (Output Gap หรือ GDP Gap) มาก กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 41 บาท ฉะนั้นค่าแรงงานขั้นต่ำเพียง 300 กว่าบาทต่อวันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแน่นอน ช่องว่างผลผลิตยังสูง หนี้ท่วม มาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายควบคู่กันจำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button