พลังงาน

ERC. Sandboxเฟสแรกเข้าวิน 34 โครงการจ่อเปิดเฟส 2 คัด EV

ประกาศผลการพิจารณาโครงการ “ERC. Sandbox” เฟสแรกแล้ว 34 โครงการ จากทั้งหมด 183 โครงการ ยักษ์ใหญ่ “ปตท.-กัลฟ์-SCG-ฮอนด้า” มาตามนัด กกพ. ชี้ แนวโน้ม “Energy Storage”มาแรงสุด ภาคเอกชนแห่ยื่นทดลองระบบการซื้อขายไฟกันเอง เตรียมยกเครื่องแนวทางการกำกับดูแล ประเมินผลกระทบ และวางมาตรการรับมือ คาดใช้เวลาทดสอบ 3 ปี เล็งเปิดเฟส 2 ปี 63 คัดเลือกนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในเฟสแรกของการพิจารณาคัดเลือกโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) มีผู้ผ่านการพิจารณาและได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) จำนวน 34 โครงการ จากการยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 183 โครงการ

“โครงการ ERC Sandbox ที่เปิดรับยื่นข้อเสนอเป็นครั้งแรกได้รับความสนใจมากจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการพลังงานชั้นนำภาครัฐ และเอกชน สถาบันอุดมศึกษา แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการที่จะรับมือ และใช้ประโยชน์จาก Technology Disruptive ซึ่งในส่วนของ สำนักงาน กกพ.เอง ก็จะใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทบทวนและยกระดับกระบวนการกำกับดูแลในความรับผิดชอบเพื่อให้ภาคพลังงานพัฒนาได้อย่างดี และมีเสถียรภาพ” นางสาวนฤภัทร กล่าว

ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการพิจารณาเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรม 3 อันดับแรก คือโครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้า (Battery Storage) สูงสุดจำนวน 9 ราย รองลงมาคือ โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย ตามลำดับ

นางสาวนฤภัทร กล่าวว่า ในจำนวนผู้ยื่นโครงการทดสอบนวัตกรรมฯ มีผู้ยื่นโครงการ Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading สูงถึง 137 ราย จากทั้งหมด 183 ราย รวมไปถึงการยื่นโครงการที่เกี่ยวเนื่องได้แก่ โครงการ Microgrid โครงการ Battery Storage ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนราคาถูกลง รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มีความต้องการส่งผลให้มีความต้องการผลิตไฟฟ้าที่ลดการพึ่งพาระบบ และต้องการให้มีการเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งสำนักงาน กกพ. ยังคงต้องมีการพิจารณาสถานการณ์ที่เหมาะสม ทั้งในแง่ระยะเวลา และปริมาณการแข่งขันประกอบด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังพบว่าแนวโน้มของราคาเทคโนโลยีของระบบ Battery Storage ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะเป็นโอกาส และจังหวะที่ดีในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาในประเทศและได้มีการอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องในรอบนี้ถึง 9 โครงการ จากที่ยื่นมาทั้งหมด 11 โครงการ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วนของการสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน หรือ Thailand Energy Hub ของรัฐบาล และแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ยังได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการสนับสนุนธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในไทย และยังคาดว่าจะส่งผลดีต่อราคา
ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศถูกลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนต่อไปโครงการที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับ สำนักงาน กกพ. จนได้ข้อสรุปจึงจะมีการลงนามในหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการระหว่างกันและคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 34 โครงการ ภายในสิ้นปี 2562

“ทาง กกพ. กับเอกชนจะร่วมกันใช้เวลาทดสอบโครงการเป็นเวลา 3 ปี ระหว่างนี้จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฏ ระเบียบให้มีความพร้อมควบคู่ไปด้วย ส่วนเฟส 2 คาดว่าจะเปิดคัดเลือกนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ในปี 2563 ซึ่งจะต้องรอดูเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง ประกอบกับทิศทางนโยบายของ กกพ.ด้วย” เลขาธิการ กกพ. กล่าว

ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวไทยมุง” รายงานว่า กกพ. เตรียมจะเปิดเฟส 2 ในปี 2563 ซึ่งโครงการที่เปิดคัดเลือกจะเป็นนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นเทรนด์ที่กำลังให้รับความสนใจ และตอบสนองนโยบายกระทรวงพลังงานด้วย

สำหรับเฟสแรก มีบริษ้ทรายใหญ่ผ่านการคัดเลือกหลายราย อาทิ บีซีพีจี โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 โครงการ Sun Smart Green Energy Community กฟภ. ได้แก่ โครงการนำร่องการให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ.ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้า โครงการการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และโครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่สถานีไฟฟ้าด่านขุนทดจังหวัดนครราชสีมา และสถานีไฟฟ้าโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นต้น

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่งฯ โครงการสร้างต้นแบบระบบการซื้อขายไฟฟ้าลักษณะ Peer-to-Peer ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน และกฟภ. และกฟน. บมจ. เอสซีจี เซรามิกส์ฯ โครงการซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง บน ESS Platform กฟผ. โครงการ ENGY Energy is yours  และโครงการ TU EGAT ENERGY

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนฉลาดภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ : ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบผสผสานกระแสตรงและกระแสสลับ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวภาพ สำหรับชุมชนต้นแบบและมหาวิทยาลัยสีเขียว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ บมจ.พลังงานบริสุทธ์ฯ และกฟน. โครงการพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬาฯ : การซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer และอาคารอัจฉริยะ บมจ.ปตท. โครงการ Regional LNG HUB  บริษท พีทีพี แอนเอ็นจีฯ โครงการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ พีทีที แอลเอ็นจี

บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนต์ฯ โครงการ Smart Battery Energy Storage in Samui Island บริษ้ท เอสพีซีจีฯ โครงการระบบการกักเก็บพลังงานเพื่อการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจและชุมชน และฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) โครงการศึกษาโครงส้างอัตราค่าบริหารรูปแบบใหม่ และการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Net Metring, Net Billing กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Partial Generator) และ Solar Cell เป็นต้น

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button