เทคโนโลยี

เก่ง เจ๋ง ไม่แพ้เยาวรุ่น!! “เอ็นไอเอ” เปิดโปรไฟล์ 2 นวัตกรวัยเก๋า

เก่ง เจ๋ง ไม่แพ้เยาวรุ่น!! “เอ็นไอเอ” เปิดโปรไฟล์ 2 นวัตกรวัยเก๋า กับบทพิสูจน์เส้นทางธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ไม่มีคำว่าสายแม้เริ่มต้นวัยเกษียณ

“การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของวัยรุ่น โดยเฉพาะเรื่องของทำธุรกิจนวัตกรรม หรือแม้แต่การเป็นสตาร์ทอัพ เพราะยุคนี้คนวัยเก๋าก็สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ และทำได้ดีไม่แพ้กับคนรุ่นใหม่ไฟแรงเลยทีเดียว!!”

ต้อนรับเดือนแห่งผู้สูงวัยและเติมไฟให้คนวัยเก๋าได้มีแรงบันดาลใจในการที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ วันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA องค์กรที่พร้อมปลุกไฟนวัตกรรมให้กับคนทุกวัยจะพาไปทำความรู้จักกับ 2 ผู้ประกอบการที่เริ่มเดินทางในสายนวัตกรรมในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งต้องบอกเลยว่านอกจากธุรกิจจะมีความน่าสนใจแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า “อายุไม่ใช่อุปสรรคของเส้นทางความสำเร็จ” นอกจากนี้ สำหรับใครที่กำลังคิดว่าอายุมากแล้วคงเป็นเรื่องยากที่จะออกสตาร์ททำสิ่งใหม่ อยากให้ศึกษาแง่คิดและแนวทางจากคนวัยเก๋าทั้ง 2 ท่าน รับรองได้ว่ามีหลากหลายไอเดียที่นำไปปรับใช้ในชีวิตและการทำธุรกิจได้ดีเลยทีเดียว

สกุณา ซาฮีร์ เจ้าของธุรกิจนแบรนด์ “nam-ya”

“จากประสบการณ์เชฟ สู่นวัตกรรมการอาหารไทยเพื่อคนต่างแดน”

มาทำความรู้จักกับ นางสกุณา ซาฮีร์ เจ้าของธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมทำและพร้อมรับประทาน ทาน (Ready to Eat & Ready to cook) แบรนด์ “nam-ya” วัย 58 ปี เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานนั้นมาจากประสบการณ์ที่ตนเคยเป็นเชฟในต่างประเทศมาก่อน แต่เมื่อถึงเวลาเกษียณอายุและกลับมาอยู่เมืองไทยเริ่มรู้สึกเสียดายความรู้ด้านอาหารที่สั่งสมมานานกว่า 20 ปี จึงเริ่มมองหาลู่ทางในการทำธุรกิจ และมาลงเอยที่ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เนื่องจากอาศัยในต่างประเทศมาเป็นเวลานานทำให้รู้ปัญหาว่าอาหารไทยในต่างประเทศค่อนข้างหายากและมีราคาแพง อีกทั้งคนต่างชาติที่ชื่นชอบอาหารไทยมีเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถปรุงอาหารไทยที่มีรสชาติอร่อยได้ ตนจึงคิดค้นสูตรอาหารสำเร็จรูปที่มีการตวงส่วนผสมที่ได้สัดส่วนลงไปในซอง เพื่อให้ต่างชาติสามารถเลือกซื้อและนำไปปรุงอาหารได้ทันที ซึ่งหลังจากตกตะกอนความคิดจึงเริ่มเข้าอบรมกับหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ โดยเริ่มแรกได้เข้าร่วมโครงการผัดไท ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจด้านอาหาร หลังจากนั้นมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีภายใต้การสนับสนุนจาก NIA ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ข้อมูลและความรู้สำหรับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจ นับเป็นก้าวแรกในการนำนวัตกรรมาใช้ในธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน

นางสกุณา เล่าต่อว่า เนื่องจากไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ในช่วงแรกจึงประสบปัญหาบ้าง โดยเฉพาะปัญหาด้านการส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศ เพราะไม่มีความรู้ในด้านกฎหมาย หรือกฎระเบียบการส่งออก รวมถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกปฏิเสธเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องอายุ จึงเริ่มมองหาแหล่งเงินทุนอื่น และเริ่มปรึกษาหน่วยงานที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี/สตาร์ทอัพ เช่น สถาบันอาหารที่ให้ความรู้เรื่องการขึ้นทะเบียนและการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ รวมถึง NIA ที่เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการอบแห้งอาหาร การได้รับความช่วยเหลือหลายหน่วยงาน ส่งผลให้ปัจจุบันตนสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้แล้วกว่า 2 ชนิด คือ ผัดไทสำเร็จรูปพร้อมทานซึ่งสามารถเก็บได้นานกว่า 8 เดือน และ ขนมจีนน้ำยาพร้อมทานที่สามารถเก็บได้นานกว่า 1 ปีครึ่ง อีกทั้งยังสามารถส่งสินค้าไปขายในประเทศออสเตรเลียได้สำเร็จ และอนาคตมีแผนขยายช่องทางการตลาดไปในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับตนมองว่าการเริ่มธุรกิจในช่วงปลายของชีวิตนั้นมีทั้งความท้าทายและความตื่นเต้นไปพร้อมกัน เพราะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เจอกับคนมากขึ้น อีกทั้งประสบการณ์ที่เรามีอยู่นั้นช่วยให้เรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น และมารถนำมาเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำธุรกิจ และกล้าที่จะลองผิด ลองถูก กล้าตัดสินใจมากยิ่งขึ้น

“การที่เราอายุมากไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรใหม่ไม่ได้แล้ว เพราะอย่างน้อยเราควรได้ลองทำอะไรที่ท้าทายในชีวิตสักครั้ง หรือแม้แต่กระทั่งการแชร์ประสบการณ์ที่มีอยู่ให้สตาร์อัพรุ่นน้องสามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้ ดังนั้น หากใครอยากลองทำธุรกิจหรือทำอะไรสักอย่างก็ควรลงมือทำเลย ขอแค่เรามีความมั่นใจและมีความทะเยอทะยานมากพอ” นางสกุณา กล่าวทิ้งท้าย

เกษชัย มิ่งวงธรรม อายุ 64 ปี ผู้ขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อชุมชนท่าเรือ

ต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมด้วยพลังนวัตกรรม

ด้านนายเกษชัย มิ่งวงธรรม อายุ 64 ปี ผู้ขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จ.นครพนม กับการพัฒนานวัตกรรมในชุมชน เล่าว่า ก่อนที่จะก้าวเข้ามาทำนวัตกรรมเพื่อสังคมให้กับวิสาหกิจชุมชนท่าเรือตนเคยรับข้าราชการมาก่อน แต่หลังจากเกษียณในช่วงปี 2561 ได้เข้ามาทำงานในวิสาหกิจชุมชนท่าเรืออย่างเต็มตัว และเริ่มมีแนวคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถนำทุนความรู้เดิมที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมเข้ามาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการในพื้นถิ่น หลังจากนั้นจึงลงมือค้นหาข้อมูลและได้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของ NIA ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น ระบบไฮโดรกริดสำหรับฟื้นฟูนิเวศป่าชุมชนเพื่อการปลูกไผ่แคน นวัตกรรมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดมร่วมกับการแผ่รังสีอินฟราเรดระยะไกลจากแผ่นเซรามิกมาใช้ในกระบวนผลิตเครื่องดนตรีอีสาน เช่น โหวด แคน ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถผลิตเครื่องดนตรีได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมของชาวบ้านให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายเกษชัย เล่าต่อว่า สำหรับแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นนำนนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในวิสาหกิจชุมชนเกิดจากการที่ต้องการนำต้นทุนความรู้ที่มีอยู่ในช่วงที่เป็นครูมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะหลังจากที่เกษียณแล้วหากไม่ได้ทำงานเลยก็จะทำให้ความรู้ที่มีอยู่หายไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ อยากเห็นชาวบ้านในชุมชนมีชีวิตความเป็นที่อยู่ที่ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ชุมชนเองก็ได้รับรางวัลจากการประกวดหมู่บ้านระดับจังหวัดมาแล้ว ดังนั้น การต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องที่คิดว่าควรจะต้องเร่งส่งเสริมในทันที อย่างไรก็ตามมองว่าการเข้ามาทำธุรกิจนวัตกรรมในช่วงปลายของชีวิตนั้นเป็นเรื่องงที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควร โดยเฉพาะการได้เจอคนใหม่ๆ ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนหินที่เอาไว้ลับสมองอยู่เสมอ

“การนำความรู้ที่มีอยู่เข้ามาเติมเต็มสังคมทำให้ตัวเราในช่วงวัย 60 ปีรู้สึกภูมิใจมาก สิ่งหนึ่งที่คิดอยู่เสมอคือในเมื่อเราสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว เราก็ควรใช้ทุนความรู้ที่มีไปช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาด้วยเองได้ด้วย แม้ว่าจะเริ่มหันมาทำธุรกิจนวัตกรรมในช่วงที่อายุมากแต่อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการทำงาน ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนลองใช้โอกาสที่มีอยู่เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง และเมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสใหม่เข้ามาจงคว้าโอกาสนั้นไว้เสมอไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงสูงอายุ ในวัย GEN-X หรือ GEN-Y ก็ตาม” นายเกษชัย กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button