พลังงาน

เปิดวิชั่น “ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง” นำทัพพลิกโฉม “เชฟรอน” สร้างความสำเร็จครั้งใหม่

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 “ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง” ได้รับบทแม่ทัพ นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ถือธงต่อจาก “ไพโรจน์ กวียานันท์” จนสามารถส่งมอบแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณลุล่วงด้วยความปลอดภัยเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา และถือโอกาสนี้เปิดตัวกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก เพื่อบอกเล่าวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่จะนำพา ‘เชฟรอน’ เดินทางสู่โอกาสและสร้างความสำเร็จครั้งใหม่ และได้เปิด ‘New chapter’ กับการกระชับขนาดธุรกิจสู่ Lean organization เพิ่มศักยภาพพลังคน พร้อมดันขีดความสามารถ ตอบสนองความต้องการพลังงานเคียงคู่ประเทศไทยไทยต่อไปในอนาคต

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอน

“ก่อนหน้านี้เชฟรอนเปรียบเสมือนเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ทำให้การเดินทางล่าช้า วันนี้เราเปลี่ยนตัวเองมาเป็นเครื่องบินรบ “เอฟ 16” ที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด รวดเร็ว การเปลี่ยนลักษณะองค์กรแบบนี้ จะช่วยให้เราการทำงานกระฉับกระเฉงมากขึ้น การตัดสินใจในองค์กร และการสื่อสารภายในองค์กรทำได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนองค์กรในลักษณะนี้จะทำให้เป็นองค์กรที่สนุก น่าทำงานมากขึ้น” ชาทิตย์ เกริ่นให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

ก่อนจะขยายความว่า “การส่งมอบแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณให้ภาครัฐเสร็จเรียบร้อยทำให้แหล่งปิโตรเลียมที่ดูแลอยู่หายไป 70% ตอนนี้เหลือสัมปทานที่ดูแลอยู่เพียง 30% ถือเป็นจังหวะพอดีในการปรับเปลี่ยนลักษณะองค์กร เป็นการกระชับองค์กรสู่ “เครื่องบินเจ็ท” ที่มีขนาดความเร็วสูง ขับเคลื่อนด้วยพนักงานกว่า 600 คน ซึ่ง 99% เป็นคนไทย และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาอีกกว่า 300 คน”

การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมา 60 ปี เชฟรอนภูมิใจที่ได้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของประเทศไทย และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างรายได้ให้กับภาครัฐในรูปของค่าภาคหลวงรวมแล้วกว่า 551,449 ล้านบาท (16.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ปัจจุบันแหล่งผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอนในประเทศไทยมี 2 แหล่งหลักๆ ได้แก่ แหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน และแหล่งปิโตรเลียมเบญจมาศ มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันต่อเดือนอยู่ที่ราว 480 ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว 16,559 บาร์เรล และน้ำมันดิบ 7,499 บาร์เรล (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2565)

แท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งไพลิน

“ชาทิตย์” กล่าวว่า ในปี  2565 นี้ ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเชฟรอนในหลายด้าน โดยสำหรับการเดินทางในบทถัดไป เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาพลังงานที่คนไทยเข้าถึงได้ สะอาด ปลอดภัยและเชื่อถือได้ บริษัทฯ เน้นปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัยด้วยกลยุทธ์ Agile โดยเริ่มต้นจากการปรับวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร พร้อมตั้งเป้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการจัดหาพลังงานสะอาด โดยไม่หยุดยั้งในการพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมซึ่งถือเป็นเสาหลักและปณิธานในการดำเนินธุรกิจของเรา

กลยุทธ์ “Agile” สู่รากฐานที่แข็งแกร่งของ Chevron Way ในบทใหม่ ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อสถานการณ์ เชฟรอนจึงได้ปรับวิสัยทัศน์ชูกลยุทธ์ Agile มุ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ Protect people and the environment มุ่งความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน เสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งสำหรับพนักงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม Better Leaders เติมเต็มศักยภาพมุ่งพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ เน้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ Future growth opportunities สร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาแนวทางการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของแหล่งปิโตรเลียมที่บริษัทฯ ได้รับสัมปทาน ตลอดจนมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และสุดท้ายกับภารกิจ Lower Carbon มุ่งลดความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซคาร์บอน (carbon intensity) เพื่อจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้นและสนับสนุนแผนพลังงานชาติสู่สังคมที่ยั่งยืน

โฉมหน้าสำนักงานใหม่ในรูปแบบ Flexible Work Hybrid ของเชฟรอน

นอกจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแล้ว เชฟรอนยังริเริ่มใช้กลยุทธ์การทำงานแบบผสมผสาน หรือ Hybrid Work Model และปรับให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับโฉมสำนักงานใหม่ในรูปแบบ Flexible Work Hybrid ที่แบ่งโซนการทำงานให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

สำหรับวัฒนธรรมองค์กรฉบับใหม่ บริษัทฯ มุ่งเน้นที่การส่งเสริมคุณค่าใน 4 ด้าน ได้แก่ One Team เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมตั้งแต่ก้าวแรกของการดำเนินงาน เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายของแต่ละโครงการ จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายฝ่าย จึงสนับสนุนการทำงานแบบ Cross-Function เพื่อให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น Growth Mindset ส่งเสริมให้พนักงานทดลองคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และไม่หยุดพัฒนา Empowerment ส่งเสริมให้พนักงาน กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ รวมถึงสามารถแสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และสุดท้ายกับคุณค่าด้าน Agile ซึ่งเชฟรอนมุ่งเน้นให้พนักงานสามารถปรับตัวต่อทุกสถานการณ์ เพื่อสร้างผลลัพธ์ในทางที่ดียิ่งขึ้น

อีกมุมโฉมหน้าสำนักงานใหม่ของเชฟรอน

“ชาทิตย์” กล่าวอีกว่า การสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการจัดหาพลังงานสะอาด ด้วยศักยภาพบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข้ง ประกอบกับการที่เชฟรอนไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาระบบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ โดยบริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาวในการจัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น ปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศไทย ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศต่อไปในอนาคต

บรรยากาศการเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรกของประธานกรรมการบริหาร เชฟรอน

ทางบริษัทฯได้เตรียมเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อขอต่ออายุสัมปทานการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งไพลินที่จะสิ้นสุดในปี 2571 ออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาพื้นที่การผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงาน แต่ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านการลงทุน ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการเจรจากับกรมเชื้อเพลิงฯ ภายในไตรมาส 1 ในปี 2566

สำหรับแหล่งปิโตรเลียมอุบลเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ของแหล่งก๊าซธรรมชาติไพลิน ซึ่งการต่ออายุการผลิตของแหล่งก๊าซธรรมชาติไพลิน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอุบลต่อไป เพราะจะทำให้มีเวลาลงทุน การตั้งแท่นผลิตใหม่ ตั้งแพลตฟอร์มใหม่ ขุดหลุมใหม่ เพื่อสร้างการผลิต และมีระยะเวลาในการผลิตเพียงพอในการคืนทุนและได้กำไร รวมถึงจะเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศด้วย

นอกจากนี้ เชฟรอนยังสนใจพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (TCOCA) หรือ พื้นที่ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล (Special Economic Zone) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับประเทศ ตอบโจทย์ของประเทศในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน รวมถึงเป็นทางออกสำหรับวิกฤตด้านพลังงาน เพราะการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลักนั้นมีความเสี่ยงจากราคาที่มีความผันผวนสูง ส่งผลต่อราคาพลังงานที่ประชาชนต้องแบกรับภาระ ดังที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังถือเป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนและการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการการตัดสินใจจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะการพัฒนาโครงการด้าน E&P ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

บรรยากาศการทำงานใน IOC สำนักงานกรุงเทพฯ

ทั้งนี้  TCOCA ยังตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Solution for energy transition) ได้ โดยเชฟรอนมีความพร้อมในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อปลดล็อกแหล่งพลังงานในอ่าวไทยที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย

“เชฟรอนมีความพร้อมที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่คาบเกี่ยวตรงนี้ เพราะเรามีโนฮาวด์ มีเทคโนโลยี มีบุคลากรและมีข้อมูลประสบการณ์ที่เราจะเข้าไปดำเนินการตรงนี้ได้ ทำให้พื้นที่ตรงนี้ได้ใช้ศักยภาพของปิโตรเลียมได้อย่างเต็มที่ที่สุด ซึ่งจะทำให้ทั้งไทยและกัมพูชา ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันกับการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม  ถือว่าในอนาคตจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญและแหล่งรายได้ให้กับไทยและของกัมพูชา อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การสร้างงานให้กับคนในประเทศ เป็นการสร้างธุรกิจอื่นๆ ที่จะมารองรับธุรกิจปิโตรเลียมที่อยู่ในประเทศไทย มีผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างเยอะ” ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอน กล่าวและว่า

“เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่คาบเกี่ยว ทางฝั่งประเทศไทยได้ให้ไลเซ่นในการถือสิทธิ์พื้นที่กับหลายบริษัทฝั่งไทย รวมถึงเชฟรอนด้วย เช่นเดียวกับทางกัมพูชาก็ให้ไลเซ่นกับอีกหลายๆ บริษัท ถ้าเราจะเดินหน้าต่อผมเชื่อว่าผู้ที่รับสัมปทานทั้งสองฝ่ายก็ต้องมาคุยกัน มาเจรจากัน”

สำหรับเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาด (Lower Carbon) “ชาทิตย์” กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติของรัฐบาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายด้วยการลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการปฏิบัติงานในประเทศไทยลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2571 (ค.ศ. 2028) และลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยมีแนวทางในการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการปฏิบัติงาน ผ่านกลยุทธ์ Thailand Clean Operations Strategy ใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. Energy Efficiency ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักร อาทิ เปิดใช้เครื่องจักรตามความจำเป็น พัฒนาคุณภาพเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ยังได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจำนวน 588,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 20 ล้านบาท) จากเชฟรอน คอร์เปอร์เรชั่น สำหรับใช้ในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น

2.Flare and Vent ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Flare และVent เป็นกระบวนจัดการการปล่อยก๊าซส่วนเหลือเพื่อลดความดันจากอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและบำรุงรักษาเครื่องจักร ตัวอย่างของการดำเนินงาน เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับก๊าซส่วนเกินจากระบบเพื่อลดความดันภายในท่อก๊าซ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเผาไหม้ก๊าซส่วนเกิน การใช้เทคโนโลยีตรวจเช็คประสิทธิภาพของอุปกรณ์

3.Feasibility Study ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น อาทิ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนที่แท่นหลุมผลิตของเรา โดยมีการวางแผนใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานลมสลับกันในระหว่างวันสำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำร่องดำเนินงานที่แท่นหลุมผลิตย่อย (Remote platform) ได้ภายในปีหน้า นอกจากนี้ เชฟรอนยังทำงานร่วมกับบริษัทผู้ร่วมทุนในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) มาใช้เป็นครั้งแรกในอ่าวไทยที่แหล่งอาทิตย์ด้วย

ศูนย์ IOC ที่สำนักงานกรุงเทพฯ แห่งเดียวในภูมิภาค

ในตอนท้ายเพื่อปรับองค์กรตามกลยุทธ์ Agile และเพิ่มประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน เชฟรอนได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานและความปลอดภัย “ชาทิตย์” ได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต หรือที่เรียกว่า “Integrated Operations Center” หรือ IOC ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเปิดให้สื่อมวลชนเข้าชมเป็นครั้งแรก

สำหรับ IOC แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาค และเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำ Control room นอกชายฝั่งของแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยทั้ง 3 แห่ง คือ เบญจมาศ ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตซึ่งห่างออกไป 300 กิโลเมตรได้ โดยคนบนฝั่งสามารถทำงานร่วมกับพนักงานนอกชายฝั่งได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นของการทำงานในรูปแบบใหม่ ช่วยให้มีการทำงานแบบ cross-functional team มากขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการสื่อสารและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารได้อย่างฉับไวเพื่อใช้ในการวางแผน และประกอบการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่เอื้อให้องค์กรสามารถปรับตัวและรับมือต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว (Agile) นับว่าเป็นโมเดลการทำงานแบบใหม่ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปในอนาคต

บรรยากาศการเปิดให้สื่อมวลชนเยี่ยมชม IOC ครั้งแรก

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนาเทคนิคการขุดเจาะแบบ Slanted Well ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่มีความลาดเอียงสูงได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตอีกด้วย โดยจากวัฒนธรรมขององค์กรที่เข้มแข็ง ที่เน้นการทำงานร่วมกันแบบ Collaborative ทำให้เชฟรอนมีเครือข่ายจากทั่วโลกที่พร้อมให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความชำนาญในด้านต่างๆ เพื่อการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของทั้งองค์กรไปด้วยกัน

ในท้ายที่สุด “ชาทิตย์” บอกด้วยว่า ไม่ว่าจะในอดีต หรือว่าจะก้าวสู่บทใหม่ก็ตาม เชฟรอนยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยต่อไปผ่านกลยุทธ์ “4 E’s” ได้แก่ Education การสนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนประเทศ เช่น โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้สะเต็มศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมของประเทศ Environment & Energy Conservation การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ ‘เสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จังหวัดสงขลา’ หนุนการผลิตยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ Economic Development การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต เช่น โครงการ ‘ส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ภาคใต้’ เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ด้วยการส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว และโครงการ ‘เชฟรอน พลังใจ พลังคน เพื่อชุมชนเข้มแข็ง’ จัดตั้งธนาคารพัฒนาหมู่บ้านของชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุดท้ายคือด้าน Employee Engagement หรือการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเมื่อมีวิกฤตต่างๆ เกิดขึ้น รวมถึงวิกฤตโควิด-19 ที่เชฟรอนให้การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ มาโดยตลอด ภายใต้งบประมาณกว่า 36 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564)

ทั้งนี้ เชฟรอนยังมีโครงการอื่นๆ อีกกว่าร้อยโครงการภายใต้กรอบการดำเนินงานด้านสังคมของเชฟรอน เพื่อสร้างการเติบโตของสังคมและการเติบโตขององค์กรไปพร้อมกัน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button