การค้า/อุตสาหกรรม

ชี้อุตสาหกรรมการผลิตไทยปรับไม่ทันพลวัตเทคโนโลยี ส่วนสินค้าเกษตรได้รับอานิสงส์จากตลาดโลก

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอาจเติบโตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมส่งออกและเศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลกอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์แบบสันดาปภายใน อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างมากในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์แบบสัปดาปภายในและทักษะแรงงานของไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่รถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอัตราเร่งจากปัญหาความรุนแรงของภาวะโลกร้อน หลายประเทศพัฒนาแล้วได้กำหนดเส้นตายไม่ให้รถยนต์สันดาปภายในวิ่งบนถนนอีกต่อไป ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในตลาดโลก ย่อมส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงอย่างมากจาก 30,000 ชิ้นเหลือเพียง 1,500-2,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ถังน้ำมัน ท่อไอเสีย อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ในการสันดาปต่างๆ เป็นต้น  ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยมีมากกว่า 800 แห่ง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีการจ้างงานมากกว่า 600,000 คน แรงงานเหล่านี้ยังคงมีทักษะการผลิตตามเทคโนโลยีเดิมอยู่และยังมีแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมสนับสนุนจำนวนมาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบรถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและสถานบริการน้ำมัน เพราะความต้องการในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิสจะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จากงานวิจัยของ ดร. กิริยา กุลกลการ (สนับสนุนงานวิจัยโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท) พบว่า มีแรงงานจำนวนไม่น้อยและสถานประกอบการในภาคการผลิตที่จะไม่มีการใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้ในรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีผลกระทบด้านบวกต่อตลาดแรงงานด้วย กล่าวคือ จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้น โดยการผลิตชิ้นส่วนประเภทใหม่ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น งานวิจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผลสุทธิต่อตลาดแรงงานจึงไม่ชัดเจนว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงของตำแหน่งงานโดยภาพรวม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นแนวโน้มชัดเจน คือ อุตสาหกรรมใหม่ๆ มีแนวโน้มใช้แรงงานเข้มข้นน้อยลงและมีทักษะสูงขึ้น ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไม่สามารถปรับเปลี่ยนทักษะได้ในทันที ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาทักษะฝีมือ อีกทั้งแรงงานบางส่วนประสบปัญหาไม่สามารถปรับตัวได้โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุมาก ช่วงการเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมยานยนต์ย่อมมีผลกระทบทางลบต่อตลาดการจ้างงาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อแรงงานในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ หลังจากนั้นจึงจะกระทบการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีกฎระเบียบด้านการขนส่งที่เข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และพึงตระหนักว่า เราไม่สามารถทวนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงได้นานมากนัก จึงต้องส่งสัญญาณให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานได้ปรับตัวให้ทันต่อพลวัตที่เกิดขึ้น ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD-Hard Disk Drive) เช่นเดียวกัน ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต HDD สำคัญของโลก อัตราการขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แม้นไทยจะสามารถส่งออก HDD เป็นมูลค่าราว 1.3หมื่นล้านเหรียญฯ หรือขยายตัวราวร้อยละ 0.9 – 5.0 จากปี 2561 และเติบต่ออย่างต่อเนื่องไปแตะจุดสูงสุดในปี 2563 และหดตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  แม้ว่า HDD จะเป็นอุปกรณ์หลักในการจัดเก็บข้อมูลมานานแต่ด้วยจุดอ่อนในเรื่องของการประมวลผลและขนาดที่ใหญ่ซึ่งสวนทางกับกระแสที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและเบา เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ส่งผลให้เทคโนโลยีคู่แข่งอย่าง โซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) นั้นเริ่มจะเป็นที่นิยมมากขึ้นและเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินว่าส่วนแบ่งตลาดสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใช้ SSD ในการเก็บข้อมูล (Computer SSD) ในตลาดโลกในปี 2562 น่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกินส่วนแบ่งถึงร้อยละ 43 ของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จากที่อยู่ราวร้อยละ 31 ในปี 2560

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนานวัตกรรม SSD ได้ทำให้ SSD เข้ามาแทนที่ HDD มากขึ้นในอัตราเร่ง และอาจมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ในไม่ช้า แล้ว อุตสาหกรรม HDD ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของโลก ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรม HDD จะปรับตัวกันอย่างไร บทบาทของรัฐที่เหมาะสมควรจะเป็นเช่นใดเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางทิศทางให้ชัดเจน ข้อมูลล่าสุดของภาคอุตสาหกรรมได้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปรากฎอยู่ในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เท่านั้น  จากข้อมูลเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 66 หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -6.3 (%YoY) และหดตัวจากเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลร้อยละ -1.0% (MoM) อุตสาหกรรมที่หดตัวสูงและมีผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (-20.6%) อุตสาหกรรมน้ำตาล (-22.9%) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (-12.6%) อุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ (-19.9%) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ  (-7.7%) ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังเป็นบวกจะเป็น อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และ อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการบริโภคภายในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรและความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 5 ปี ราคาข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ราคาและปริมาณส่งออกยาง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและข้าวโพด ก็เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการในตลาดโลก เป็นผลจากภัยแล้งและสงคราม

อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 66 อยู่แค่ร้อยละ 55.2 ของกำลังการผลิตรวม ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 58.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60% การลงทุนใหม่ย่อมชะลอตัวลง  การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาจดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง และ ต้องเผชิญกับการทุ่มตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศจีนที่กำลังเผชิญภาวะเงินฝืดอีกด้วย สถานการณ์ การลงทุนและอุปทานส่วนเกินจำนวนมาก หรือ Overcapacity ในจีนต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับเข้าสู่สมดุล การเร่งกระตุ้นอุปสงค์ภายในของจีนมีความจำเป็น ส่วนไทยนั้นแม้นแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Foreign Direct Investment – FDI) ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40%  ปีที่แล้ว และ ไทยมียุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของในอุตสาหกรรมนวัตกรรมสูงแต่มีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะ ต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูง มีทักษะแรงงานทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบทางด้านวิจัยและนวัตกรรมรองรับ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังคงขาดแคลนอยู่ รวมทั้งระบบการศึกษาไม่ตอบสนอง  และมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน อย่าง “บีไอโอ” ก็ควรปรับบทบาทจากผู้ให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน มาเป็น ผู้บูรณาการ อำนวยความสะดวกและเชื่อมโยงการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายผลประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติ “บีโอไอ” ควรทำงานร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวกับการส่งเสริม SMEs ทั้งหลาย ทำให้ SMEs ไทยเชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตและการบริการข้ามชาติมากยิ่งขึ้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การปรับและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดยากหากมีปัญหาข้อจำกัดภาครัฐ ยกตัวอย่าง หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมอย่าง กสทช มีความขัดแย้งในระดับนโยบายและระดับบริหาร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีความล่าช้าในการแต่งตั้งบอร์ดและผู้ว่า กฟผ และฐานะทางการเงินของ กฟผ ย่ำแย่ลงจากหนี้คงค้างจากรัฐบาลและแบกรับค่าเอฟที หลายรัฐวิสาหกิจไม่สามารถหาผู้บริหารมาทำงานได้ หน่วยงานของรัฐ ระบบยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาความขัดแย้ง มีการฟ้องกันไปมา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความมีหลายมาตรฐานของระบบศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรมทำให้ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน นักลงทุนและผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้ทำให้การปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจทำได้ยาก การปฏิรูปกิจการภาครัฐและการปรับโครงสร้างระบบองค์กรรัฐเพื่อให้เกิดการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน เพิ่มความโปร่งใสและระบบธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรภาครัฐและเศรษฐกิจได้ ไทยก็ต้องเผชิญความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันต่อไป ติดกับดักการเติบโตต่ำไปอีกนาน และ มีความยากลำบากมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ขณะที่ ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากปัญหาการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 หากมีการยุบพรรคก้าวไกล หรือ ตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ประเทศไทยอาจเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ องค์กรรัฐจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติในเรื่องระบบนิติรัฐนิติธรรม นักลงทุนต่างชาติอาจหวั่นไหวต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button