การค้า/อุตสาหกรรม

อีอีซี MOU เชื่อมความร่วมมือ ส.อ.ท. เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการพื้นที่อีอีซี

อีอีซี MOU เชื่อมความร่วมมือ ส.อ.ท. เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการพื้นที่อีอีซี ผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ บริการ แหล่งเงินทุน ขยายโอกาสลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2567) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สกพอ. และ ส.อ.ท. โดยมีนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านระบบเงิน สกพอ. และ ดร. วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองประธาน ส.อ.ท. เป็นพยาน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซีให้มีศักยภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ตอบโจทย์ และสามารถยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีให้มีความเป็นสากล อีกทั้งร่วมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการที่มีความสำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศรองรับการลงทุนให้พื้นที่อีอีซี ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 ส.อ.ท.

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ความร่วมมือตาม MOU ครั้งนี้ อีอีซี และ ส.อ.ท. จะร่วมดำเนินการใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) ผลักดันผู้ประกอบการในอีอีซีให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และต่อยอดธุรกิจในอนาคต และร่วมจัดกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Network) 2) ร่วมกันผลักดันให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการ Startup ให้สามารถรับเงินทุนสนับสนุนผ่านกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation One) หรือจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ทอัพไทย และต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง และ 3) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการทั้ง Project-Based และ Flagship Projects ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่อีอีซี พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพ

“ความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นกลไกที่สำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมและบริการให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เสริมสร้างความพร้อมของห่วงโซ่การผลิต (Production Chain) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) พร้อมยกระดับให้มีความเป็นมาตรฐานและมีความเป็นสากล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการชักชวนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี” ดร.จุฬา กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่สำคัญของประเทศไทย โดยในปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 38,613 ล้านบาท และมีสมาชิก ส.อ.ท. ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 1,209 ราย ครอบคลุม 3 จังหวัดที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา จึงเห็นว่าความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ EEC เป็นแนวทางที่สำคัญซึ่ง ส.อ.ท. พร้อมจะสนับสนุนในด้านข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการของเครือข่ายสมาชิก ส.อ.ท. ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด ให้แก่ผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษฯ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Network) และยกระดับภาคอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) สู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ONE FTI อีกทั้งในปัจจุบัน ส.อ.ท. ได้มีการจัดตั้งโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” ขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการในภาคอุตสาหกรรม

“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความยินดีที่ได้จับมือทำงานร่วมกับอีอีซี ในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งสมาชิกของ ส.อ.ท. ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและแหล่งเงินทุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษฯ เติบโตและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าวโทร. 0-2345-1013

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button